วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม บรรยากาศการประชุมสภา อบจ.นครพนม สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ประจำปี 2567 ครั้งที่ 2/2567 ณ ห้องประชุมสภา อบจ.นครพนม เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 มีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญ คือ การเสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี งบประมาณ 2568 วาระรับหลักการ หรือวาระ 1 มีประเด็นที่น่าจับตาคือ ถึงแม้จะมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการตรวจสอบปมทุจริต โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน แต่ทาง อบจ.นครพนม ยังมีการเสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ในการจัดสรรงบประมาณ ปี 2568 อีกหลายโครงการ รวมเป็นงบประมาณ กว่า 40 ล้านบาท โดยข้อสรุปเห็นชอบเป็นเสียงข้างมาก พร้อมนำเข้าพิจารณาวาระสอง ตามระเบียบต่อไป
แต่มีประเด็นร้อนคือ ในวาระอื่นๆ ของการประชุมเนื่องจาก นายอภิชาต ดีบุกคำ ส.อบจ.เขต อ.ท่าอุเทน ในฐานะรองประธานสภา อบจ.นครพนม ถือเป็นอีกคนที่งดออกเสียง ในการรับร่างข้อบัญญัติ ได้ลุกขึ้นอภิปราย ทักท้วงไปยัง ผู้บริหาร อบจ.นครพนม รวมถึงนายก อบจ.นครพนม เกี่ยวกับโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เชื่อว่าไม่มีความคุ้มค่าใช้งบประมาณมากเกินไป ในช่วงการบริหารงาน 4 ปี เนื่องจากมั่นใจว่า ชาวบ้านยังต้องการดูแลช่วยเหลืออีกหลายด้านที่จำเป็นเร่งด่วน ยืนยันไม่เห็นด้วย และขอให้ ผู้บริหารทบทวน ขณะเดียวกัน ทางด้าน สภา อบจ.นครพนม ยืนยันทำตามขั้นตอน เชื่อมั่นคุ้มค่า
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนนี้ เคยมีตัวแทนชาวบ้านออกมาร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ การดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน อบจ.นครพนม ร้องเรียน สำนักตรวจเงินแผ่นดินนครพนม พร้อม ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครพนม ตรวจสอบความคุ้มค่า และตรวจสอบงานใช้งบประมาณ เพื่อความโปร่งใส อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบ โดยในห้วงปี งบประมาณ 2565 - 2567 อบจ.นครพนม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จาก กรมทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และเป็นงบประมาณของ อบจ.นครพนม รวมกว่า 430 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโครงการธนาคารน้ำใต้ดินมากกว่า 800 โครงการ ถือว่ามากสุดในอีสาน แต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องความคุ้มค่าของงบประมาณ เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำตามหลักทฤษฎี ที่ต้องใช้ตัวชี้วัดหลายด้าน
ทั้งนี้ หลังจากกรณี เคยมีข้อร้องเรียน กลายเป็นประเด็นร้อน ในการตรวจสอบการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ของ อบจ.นครพนม แต่ยังไม่มีผู้บริหาร อบจ.นครพนม หรือ นายก อบจ.นครพนม ออกมาแถลงข้อเท็จจริงผ่านสื่อ หรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อเท็จจริง โดยไม่มีเหตุผล พร้อมปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ มีเพียงการเคลื่อนไหวทางเพจส่วนตัวของ นายก อบจ.นครพนม ยืนยันมีความคุ้มค่า และใช้งบประมาณตามระเบียบราชการ โดยพี่น้องประชาชน จะต้องจับตามองต่อไปว่าผลการตรวจสอบ หน่วยงานเกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไร เพื่อความโปร่งใส หากสามารถใช้งบประมาณคุ้มค่า เกิดประโยชน์ ถือเป็นเรื่องดีกับชาวนครพนม และเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง อบจ.นครพนม แต่หากไม่คุ้มค่า หรือมีการทุจริต เชื่อว่า จะกระทบความเชื่อมั่นการบริหารงาน อบจ.นครพนม อย่างแน่นอน ในรอบวาระ 4 ปี