ที่ศาลาทรงงานบึงบัวบากง  บ้านบากง ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เดินทางลงพื้นที่ เพื่อตามรอยเสด็จพื้นที่ทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งพบปะ ให้กำลังใจ มอบถุงยังชีพ ให้แก่พี่น้องสมาชิกราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) กองพันรือเสาะ  เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพ และเป็นขวัญกำลังใจในการปฎิบัติงานต่อไป

ย้อนไป 40 ปี ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดทรายทอง บ้านบากง ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรและเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรทัศนียภาพบริเวณบึงบัวบากง ด้วยเรือไม้หลุมพอ เป็นเรือขุดที่พระองค์ท่านประทับทรงงาน นายอรัญ วรรณรัตน์ อายุ 77 ปี ชาวอำเภอรือเสาะ ซึ่งเป็นประชาชนผู้ได้มีโอกาสเข้ารับเสด็จ กล่าวถึงความประทับใจเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาเยี่ยมในพื้นที่ว่า สมัยที่พระองค์ท่านเสด็จมาที่วัดทรายทอง บ้านบากง เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2527 ตนมีอายุ 37 ปี ได้มีโอกาสมารอรับเสด็จบริเวณลานวัดทรายทอง ร่วมกับชาวบ้าน จำนวนมาก หลังจากที่พระองค์ท่านทรงเยี่ยมราษฏรแล้ว ทรงประทับเรือขุดจากวัดไปยังบึงบัวบากง สมัยนั้นยังไม่มีถนนเชื่อมต่อเหมือนกับสมัยนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประทับนั่งเรือลำดังกล่าว โดยมีตานุช เป็นฝีพายจากวัดมายังบึงบัวบากงแห่งนี้ เพื่อมาดูการแก้ปัญหาแหล่งน้ำ จากนั้นจึงมีดำริให้สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อให้ชาวบ้านใช้ทำการเกษตรและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากก่อนหน้านี้น้ำจะท่วมทุกปี และหลังจากนั้น น้ำก็ไม่ท่วมพื้นที่อีกเลย 

ด้าน นาย กรีฑา แดงดี รองประธานสมาพันธ์ไทยพุทธ จังหวัดนราธิวาส ชาวบ้านในหมู่บ้านบากง ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของเรือลำดังกล่าวว่า เมื่อสมัยก่อน เรือลำนี้อยู่ที่วัดทรายทอง ต.บากง อ.รือเสาะ (วัดบ้านบากง) ซึ่งเป็นของหลวงพ่อท่านดำ เจ้าอาวาสวัดทรายทอง ซึ่งท่านดำได้ขอไม้จากชาวบ้านเพื่อนำมาขุดเรือไว้บิณฑบาตในหน้าน้ำท่วมเพื่อให้เข้าถึงชาวบ้านให้ง่ายขึ้น ต่อมาเรือลำดังกล่าวก็ได้เก็บไว้ที่วัด และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จมาเยี่ยมราษฏรในพื้นที่จึงได้นำเรือขุดลำดังกล่าวมาใช้เป็นเรือพายสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้ทรงงาน ต่อมาเมื่อปี 2529 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณสยามมกุฎราชกุมาร ก็เคยประทับเรือลำนี้เพื่อทอดพระเนตรทัศนียภาพในบึงบัวบากงด้วย “สำหรับเรือประทับทรงงานลำนี้ เป็นเรือขุดใช้แรงงานคน ทำด้วยไม้หลุมพอ มีความยาว 5 เมตร 50 เซนติเมตร ความกว้างกลางลำเรือ 88 เซนติเมตร และความลึก 22 เซนติเมตร ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในพื้นที่ได้เก็บรักษาเรือลำนี้ไว้บริเวณศาลาทรงงานบึงบัวบากง ในอนาคตชาวบ้านตั้งใจจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความภาคภูมิใจให้ทุกคนได้มาเยี่ยมชม อีกทั้งเปิดพื้นที่บึงบากงบางส่วนจากพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 150 ไร่ ให้ลูกหลานในหมู่บ้านได้เรียนรู้ และเล่าขานสืบต่อกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ทรงงานอย่างหนัก ตรากตรำพระวรกาย เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ อ.รือเสาะ แม้จะเสด็จพระราชดำเนินอย่างยากลำบาก บางพื้นที่ ต้องประทับเรือ พระองค์ท่านก็มิได้ย่อท้อ ทรงมีพระราชหฤทัยให้ราษฎรได้อยู่ดีกินดี พระราชทานความช่วยเหลือต่างๆ ชาวอำเภอรือเสาะ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์

ขณะที่ พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย ตลอดจนมุ่งเน้นให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีความรู้ความเข้าใจข้อมูลสถาบันหลักของชาติที่ถูกต้อง ได้รับทราบถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน เพื่อร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี 

ตลอดระยะเวลา แห่งการครองราชย์เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ปวงประชา ผ่านหลายพันโครงการ ยังคงเจริญงอกงาม ทั่วสารทิศ หล่อเลี้ยงทุกชีวิต ทุกสรรพสิ่งบนผืนดินไทย ซึ่งพระบรมราโชวาท และพระราชดํารัสที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ได้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ทุกฝ่าย ยึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางสําคัญที่เป็นภูมิคุ้มกันให้พสกนิกรสามารถดําเนินชีวิตได้อย่างมั่นคง