ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ร่วมสืบสานรักษาต่อยอด ขยายผลสำเร็จสู่ราษฎรทั้งไทยและสปป.ลาว
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้นำคณะสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ประจำปี 2567 ลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมการขยายผลจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อนำข้อมูลผลสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนแนวพระราชดำริในการพัฒนาด้านต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้และได้สร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน ประเทศชาติ และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดความยั่งยืน เพื่อข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเผยแพร่สู่การรับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวางต่อไป
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแบบในเรื่อง “สร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตแบบพอเพียง” โดยนำผลสำเร็จมาสาธิตเพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองในรูปแบบของ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต จวบจนปัจจุบันมีความคืบหน้าและประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เกิดวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตนเองของประชาชนในพื้นที่และในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ที่ได้รับการต่อยอดความสำเร็จขยายผลสู่เกษตรกรชาวลาว
นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยถึงการสืบสาน รักษา ต่อยอด ผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ กับคณะสื่อมวลชนว่า ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่ร่วมสนองงาน จัดนำราษฎรจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาดูงานและฝึกอบรมอาชีพตามที่แต่ละคนถนัด และมีความต้องการ พร้อมมอบปัจจัยการผลิต และส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำกินของราษฎรเพื่อให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง
“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ก่อตั้งขึ้นมา 40 กว่าปีแล้ว ในช่วง 20 ปีหลังมีงานศึกษาทดลองที่ประสบความสำเร็จ และมีความเหมาะกับภูมิสังคมภูมิประเทศในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งนอกจากได้ขยายผลให้กับเกษตรกรรอบศูนย์ฯ แล้วยังมีการขยายผลสู่ทุกอําเภอ ของจังหวัดสกลนคร โดยมีศูนย์สาขาอีก 4 ศูนย์ ที่กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ทำหน้าที่ขยายผลและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร. ) ในการเป็นหน่วยงานร่วมดําเนินการแบบบูรณาการกับโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) เมืองนาซายทอง แขวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ได้นําเกษตรกรที่ศูนย์ฯ ห้วยซอน - ห้วยซั้ว คัดเลือกมาเข้ารับการอบรม จำนวนหลายรุ่น และในปี 2568 จะเปิดอบรมหลักสูตรการผสมเทียมสัตว์ การจัดทําแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกษตรกรชาวลาวเพื่อนบ้านของไทยสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข” นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ กล่าว
สำหรับโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) เมืองนาซายทอง แขวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว( สปป.ลาว ) เป็นโครงการพัฒนาแห่งแรกใน สปป.ลาว ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 ตามที่ ฯพณฯ ไกสอน พมวิหาน อดีตประธานสปป.ลาว มีอักษรสาส์นกราบบังคมทูลขอพระราชทานโครงการในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การนี้พระองค์มีพระราชดำรัสว่า ที่ลาวให้ตั้งเป็นศูนย์พัฒนาเลย ไม่ต้องศึกษา เพราะประเทศไทยได้ศึกษาจนเห็นผลสำเร็จมาแล้วให้นำมาขยายผลได้เลย
“ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ นอกจากจะเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน ฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ของราษฎรทั้งไทยและสปป.ลาว แล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากอีกด้วย ในวันธรรมดาจะมีผู้คนเข้ามาเที่ยวมากกว่า 400 คน ปีหนึ่งประมาณ 80,000 ถึง 100,000 คน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าเที่ยวชมแต่ประการใด” นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ กล่าวกับสื่อมวลชนในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงาน กปร.