การประชุมคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กมธ.อว.) และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการซักถามกันอย่างเข้มข้นจากทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้รายละเอียดและเนื้อหายิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ เดินหน้าสู่เป้าหมายการหาข้อเท็จจริงอย่างโปรงใส่ เพื่อหาข้อสรุปและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาสั่งการแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
ในการประชุม กมธ. อว. ครั้งล่าสุดนี้ เป็นการพิจารณาประเด็นการส่งออกปลาหมอคางดำ ด้วยชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron และชื่อสามัญ Blackchin tilapia ในกลุ่มปลาสวยงามตามรายงานของกรมประมง ระหว่างปี 2556-2559 โดย 11 บริษัท จำนวน 230,000 ตัว ไปยัง 17 ประเทศ ซึ่งอธิบดีกรมประมง ยอมรับในการประชุมอนุกรรมาธิการ ที่ผ่านมาแล้วว่า มีการส่งออกจริง แต่เป็นการกรอกเอกสารในระบบผิดพลาดและปลาที่ส่งออกไปจริงๆแล้ว คือ ปลาหมอเทศข้างลาย ในวันนั้นที่ประชุมได้ตั้งคำถามว่าเป็นการลงระบบผิดพลาดเหมือนกันหมดทั้ง 11 บริษัท และต่อเนื่องกันเป็นเวลา 4 ปี เหตุใดกรมประมงจึงไม่พบความผิดปกติดังกล่าว จึงมาสู่การเรียกบริษัทส่งออกปลาสวยงามทั้ง 11 บริษัท มาให้ข้อมูลเพื่อความชัดเจนว่าปลาที่ส่งออกไปเป็นปลาชนิดใดกันแน่
ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นั้น มีการเชิญ 5 บริษัท จาก 11 บริษัทส่งออกมาชี้แจง โดยบริษัทต่างๆ หอบเอกสารปึกใหญ่ซึ่งเป็นรายการส่งออกหลายปีย้อนหลัง รวมถึงใบตรวจสุขภาพปลา มาแสดงต่อ กมธ. เพื่อนำไปเปรียบเทียบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ยืนยันว่าไม่ได้ส่งออกปลาหมอคางดำ แต่เป็นการส่งออกปลาชนิดต่างๆ อาทิ ปลาหมอมาลาวี ชื่อวิทยาศาสตร์ Protomelas taeniolatus ปลาหลังเขียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Sardinella gibbosa (Bleeker, 1849) ปลาบู่หมาจู ชื่อวิทยาศาตร์ Brachy Gobius เป็นต้น ซึ่งเป็นการกรอกข้อมูลในระบบผิดพลาดของบริษัทชิปปิ้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ Sorotherodon melanotheron ชื่อสามัญ Blackchin tilapia และชื่อภาษาไทย คือ ปลาหมอสีคางดำ ซึ่งไม่ตรงกับปลาที่มีการส่งออกไปจริง
ที่น่าสนใจ คือ จากการตรวจสอบของกรมประมงพบว่าการกรอกข้อมูลส่งออกในระบบมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน 212 ครั้ง จากการส่งออกปลาสวยงามในช่วงดังกล่าวที่มีมากกว่า 24,000 ครั้ง
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธาน กมธ. อว. กล่าวในวันเดียวกันว่า กรมประมงและบริษัทผู้ส่งออกปลาให้ข้อมูลตรงกัน ว่า ข้อมูลที่เกิดขึ้น เกิดจากความผิดพลาดในการกรอกข้อมูล โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากปลา 2 ชนิด คือ ปลาหมอมาลาวีและปลาหลังเขียว ที่ชื่อภาษาอังกฤษสะกดคล้ายกับปลาหมอคางดำ
อย่างไรก็ตาม กมธ. ยังติดใจการชี้แจงของกรมประมงเพราะยังไม่ชัดเจน และตั้งข้อสังเกตการดำเนินการของกรมประมง ในกรณีที่เกษตรกรร้องเรียนการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กลับไม่ตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชน แต่กลับไปตรวจสอบการส่งออกแล้วได้ข้อสรุปว่าเป็นการกรอกเอกสารส่งออกผิดพลาด
ทั้งนี้ ยังเหลืออีก 6 บริษัทส่งออก ที่ยังไม่มาให้ข้อมูล และ 1 ใน 6 บริษัท ปิดกิจการไปแล้ว จึงควรมีการสอบสวนให้ครบทุกบริษัทส่งออกปลาชนิดใด ซึ่งการพิสูจน์ให้เกิดความชัดเจนและโปรงใสคือการนำภาพปลาที่ส่งออกมาแสดงให้เห็น ซึ่งเวลาผ่านไปเป็น 10 ปี จึงเป็นการยากที่จะหาหลักฐานรูปภาพได้ ก่อนหน้านี้ อนุ กมธ. เคยตั้งคำถามกับกรมประมงว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่พบความผิดปกติดังกล่าว และปล่อยให้มีการกรอกเอกสารผิดพลาดต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี และผิดพลาดในรายละเอียดสำคัญทั้ง 11 บริษัท หากไม่เกิดกรณีนี้ ก็จะไม่มีการตรวจความถูกต้อง
จากข้อมูลของ กมธ. ทำให้มีคำถามต่อกรมประมงว่าการกรอกเอกสารผิดพลาดซ้ำๆ เป็นการบิดเบือนหรือส่งออกผิดกฏหมายหรือไม่ เพราะไม่มีการตรวจสอบไปยังประเทศปลายทางส่งออกว่าได้รับปลาอะไร ซึ่งตามมาตรฐานสากลในการตรวจสอบปลานำเข้า-ส่งออก ใช้ชื่อวิทยาศาตร์และชื่อสามัญ ในการยืนยันความถูกต้อง และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการลักลอบนำเข้ามา เนื่องจากมีบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจากกรมประมง คำถามเหล่านี้ไม่เพียง กมธ. และ อนุ กมธ. เท่านั้นที่ยังคลางแคลงใจ สังคมที่ติดตามการประชุมของ กมธ. คงเห็นด้วยว่ากรมประมง ควรมีคำตอบที่ชัดเจนมากกว่านี้ในฐานะผู้คุมกฎ
กรณีปลาหมอคางดำนี้ นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ย้ำว่าคงไม่สามารถชี้ชัดได้ ว่าใครเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจน ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของภาครัฐในการไปตรวจสอบ เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป
โดย : ชาญศึก ผดุงความดี นักวิชาการอิสระ