วันที่ 13 ส.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภาให้ส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ จากการนำชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีที่ผ่านมา ทั้งที่รู้และควรรู้ว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเนื่องจากเคยถูกศาลฎีกา กำหนดนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพรุ่งนีั เวลา 15.00 น. 

มีรายงานว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงเฉพาะตัว รวมทั้งมีผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย แต่หากศาลฯยกคำร้อง นายเศรษฐา จะสามารถปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป นั้นล่าสุดมีรายงานข่าวเปิดเผยว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะชี้ว่านายเศรษฐา ไม่มีความผิด และให้ยกคำร้องนั้นจะอยู่ที่มติ 6 ต่อ 3  โดย 3 เสียงข้างน้อยนั้นประกอบด้วย นายจิรนิติ หะวานนท์ นายวิรุฬห์ แสงเทียน และ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ซึ่งเป็นตุลาการสายฎีกา 

ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า หากมติจากที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะชี้ว่านายเศรษฐา มีความผิดและต้องพ้นจากตำแหน่งนั้นจะอยู่ที่ 5 ต่อ 4 เสียง ทั้งนี้มีรายงานว่า ตุลาการที่อาจเป็นจุดชี้ขาด ให้นายเศรษฐา รอดจากคดีนั้นมีด้วย 2 เสียง คือนายอุดม รัฐอมฤต และ นายปัญญา อุดชาชน ซึ่งจะทำให้มติเปลี่ยนมาเป็น 5 ต่อ 4  ในที่สุด 

อย่างไรก็ดี หากนายเศรษฐา รอดพ้นจากคดีที่ 40 สว.ยื่นถอดถอนครั้งนี้ อาจซ้ำรอยกับเมื่อครั้งที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยรอดจากคดีซุกหุ้น โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้นายทักษิณพ้นผิดด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7  เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2544  ซึ่งนายทักษิณ เคยระบุว่าเป็นการบกพร่องโดยสุจริต