สหกรณ์การเกษตรกระบี่น้อยพัฒนา จำกัด ก่อตั้งในพื้นที่ โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พัฒนาพื้นที่ทำกิน ส่งเสริมอาชีพยั่งยืน
พื้นที่ ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกร ต่อมามีมติเห็นชอบคุณสมบัติความเป็นเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีผู้ผ่านการเห็นชอบรายชื่อจาก คทช.จังหวัดกระบี่ จำนวน 54 ราย และพิจารณาอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพื้นที่เป้าหมาย แปลงหมายเลข 601 เนื้อที่ประมาณ 973 ไร่ ที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ โดยมีการออกแบบพื้นที่โครงการ แบ่งออกเป็น 1. พื้นที่แปลงเกษตรกรรมรวมที่อยู่อาศัย จำนวน 121 แปลง ๆ ละ 2-2-0 ไร่ เนื้อที่รวมประมาณ 302.5 ไร่ 2. พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 294 ไร่ 3. พื้นที่ส่วนกลาง ประมาณ 51 ไร่ 4. พื้นที่ส่วนกลาง (พาณิชยกรรมและส่งเสริมสินค้าทางการเกษตร) เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ 5. พื้นที่ป่าชุมชน ประมาณ 84 ไร่ 6. พื้นที่แหล่งน้ำ (สระเก็บน้ำสาธารณประโยชน์ จำนวน 7 แห่ง) เนื้อที่ประมาณ 125 ไร่ และ 7. แนวเขตถนนสายหลัก-สายซอย เนื้อที่ประมาณ 86.5 ไร่
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า แนวทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ แปลงหมายเลข 601 โดยขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาอาชีพในรูปแบบของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินตามแบบอย่างการบริหารจัดการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงบ้านบางเจริญ หมู่ที่ 5 ตำบลนาเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และมีสอดคล้องกับแนวคิด ทักษะ ประสบการณ์ ภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรม แรงงานของแต่ละครัวเรือน รวมทั้งภูมิสังคมและทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในแปลงที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะดำเนินการผลิตสินค้าหรือบริการทางการเกษตรที่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อก่อให้เกิดการสร้างรายได้และสวัสดิการของชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมอาชีพ โดยนำวัสดุธรรมชาติที่พบมากในท้องถิ่น เช่น ต้นคลุ้ม เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างพื้นที่ใกล้ลำธาร ริมคลอง หรือ ท้องนา ซึ่งเป็นพืชที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการสร้างเครื่องจักสานรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน แต่เนื่องจากการผลิตจักสานคลุ้มนั้นต้องใช้ความพิถีพิถันและละเอียดอ่อน จึงทำให้ในปัจจุบันมีผู้ผลิตคลุ้มลดลงอย่างมาก ซึ่งหากพูดถึงผลิตภัณฑ์จักสาน หลายคนคงคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้นิยมอย่างต้นหวาย หรือต้นไผ่ แต่สำหรับเอกลักษณ์ของ “จักสานคลุ้ม” ที่โดดเด่นจากพืชชนิดอื่นคือ ความแข็งแรง คงทน ไม่มีมอด ไม่ขึ้นรา อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นสูง จึงเป็นอีกหนึ่งไม้นิยมที่มีการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งแต่สมัยก่อน ปัจจุบันนำมาจักสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ สร้างงาน สร้างอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้เสริมแก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน