ผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยข้าราชการ ประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567
วันที่ 12 ส.ค.67 พระธรรมรัตนมงคล เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 โดยมี คณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ตุลาการ ทหาร ตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พสกนิกรทุกหมู่เหล่า เข้าร่วมพิธี เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ณ โดมอเนกประสงค์ วัดพนัญเชิงวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของพลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สิริกิติ์” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นศรี แห่งกิติยากร” ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 ที่บ้านพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระรามหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร
ขณะนั้นเป็นระยะที่ประเทศเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อนหน้านั้นพระบิดาของพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก มียศเป็นพันเอก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ทั้งนี้ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทย และในฐานะคู่พระราชหฤทัยแห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กล่าวคือทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจทั้งหลายไปได้เป็นอันมาก ทั้งยังมีพระราชดำริเริ่มใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชน และพัฒนาประเทศอย่างอเนกอนันต์ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคล ผู้ยากไร้และประชาชนในชนบทห่างไกล พระองค์ทรงมีพระราชดำริ ให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และในปัจจุบันคือมูลนิธิส่งเสริมศิลปอาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ ขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้าน ที่มีความงดงามหลากหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ และการจักสาน นอกจากนี้ก็ยังมีพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้านหัถตศิลป์ ด้านการเกษตรและชลประทาน และด้านการสาธารณสุขอีกด้วย
สำหรับงาน "วันแม่แห่งชาติ" ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2486 ที่สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ในช่วงนั้นเกิด สงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อๆ มาจึงต้องงดไป แต่เมื่อสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามจัดให้มีวันแม่ขึ้นมาอีกครั้ง และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมากำหนดให้วันที่ 15 เม.ย.ของทุกๆ ปี เป็นวันแม่แห่งชาติ ตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ.2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น "วันแม่แห่งชาติ" ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันแม่ คือ "ดอกมะลิ" ด้วยกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และเป็นดอกไม้ที่มีสีขาว เปรียบได้กับความรักบริสุทธิ์ที่แม่มีต่อลูก ทำให้ "มะลิ" ถูกใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณะประจำวันแม่