ต้อนรับฉบับฤดูร้อนกับผลงานลำดับที่ 5 ของหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025 โดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยได้รับ พระมหากรุณาจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาเป็นบรรณาธิการบริหาร เล่มที่ 5 พระนิพนธ์เล่มนี้จะช่วยสร้างสรรค์ด้านงานออกแบบที่ยังคงรากฐานดั้งเดิมอันประณีตและงดงามของผ้าไทย ตลอดจนงานหัตถกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค ไปจนถึงยกระดับเตรียมพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นได้ในระดับสากล พร้อมแนวคิดเรื่องการใช้สีสันโทนไทย ที่เน้นการผสมผสานเฉดสี โดยแบ่งสัดส่วนของ สีต่างๆ ในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการผ้าไทยทุกสาขาใช้งานง่ายขึ้น โดย หนังสือการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025) ได้สร้างสรรค์ขึ้นตามแนวดำริในโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ช่วยสร้างมิติความสร้างสรรค์ด้านงานออกแบบที่ยังคงรากฐานดั้งเดิมอันประณีตและงดงามของผ้าไทย ตลอดจนงานหัตถกรรมต่าง ๆ
โดยในวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2567 ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัว หนังสือการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025) ณ สเฟียร์ ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ โดย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมด้วยที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ และนายพลพัฒน์ อัศวะประภา ร่วมพูดคุยถึงรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทรนด์บุ๊กฉบับฤดูร้อน 2025 นี้ด้วย
นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 (Thai Tone Trend Book 2024) ว่า โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แบ่งปัน และเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องสีสันโทนไทย (Thai Tone) สีธรรมชาติบนผืนผ้า เครื่องแต่งกาย ตลอดจนงานสิ่งทอ รวมถึงแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ที่อยู่ในแวดวงผ้าไทย ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค ไปจนถึงระดับชาติ โดยการนำแนวคิดที่เป็นสากลมาช่วยต่อยอดแนวคิดในมิติการสร้างสรรค์และพัฒนาวงการ ผ้าไทยสู่การปฏิบัติได้จริง พร้อมสร้างแรงกระเพื่อมและปลูกจิตสำนึกในการยกระดับภาพลักษณ์อันดีงามและทันสมัย พร้อมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ประชาชน และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานศิลปหัตถกรรมของไทยให้แก่ประเทศได้อย่างยั่งยืน
“สำหรับหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025 นั้น เกิดขึ้นตามแนวพระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ เพื่อปลุกกระแสในเชิงความคิดสร้างสรรค์ให้ผสานเข้ากับงานศิลปหัตถกรรม งานฝีมือของไทย ให้ยกระดับเตรียมพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นได้ในระดับสากล การจัดทำหนังสือฉบับนี้ ได้ผ่านการระดมความคิด หารือ ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง ผ้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น การออกแบบแฟชั่น การทอ และการย้อมสีธรรมชาติ รวมไปถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างสรรค์โทนสี ตลอดจนแนวโน้มและทิศทางและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย
“ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าเครื่องแต่งกาย ผู้ประกอบการผ้าไทย เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการผ้าไทย ในการนำองค์ความรู้อันล้ำค่าจากหนังสือเทรนด์บุ๊กฉบับฤดูร้อน 2025 นี้ ไปสร้างสรรค์โทนสีบนผืนผ้าและงานหัตถกรรมที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ทรงคุณค่าอันประณีตงดงามและเต็มไปด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ พร้อมด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามหลักแฟชั่นแห่งความยั่งยืน (Sustainable Fashion) ซึ่งจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของผ้าไทยมีความทันสมัยสู่สากล และสร้างรายได้ให้กับทุกฝ่ายเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง”
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้นำมาสู่พันธกิจของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพและยกระดับผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทยสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยตลอดเวลาการดำเนินงานกว่า 4 ปี ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงงานและทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมพื้นบ้าน พระองค์ทรงสร้างแรงบันดาลใจ แบ่งปันองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่วนพระองค์ พระราชทานแนวพระดำริในการพัฒนาผืนผ้าและงานหัตถกรรมให้มีความร่วมสมัยและทัดเทียมได้ในระดับสากลให้แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถศิลป์ และช่างหัตถกรรม รวมถึงทรงพัฒนาออกแบบลายผ้าพระราชทาน โดยพระราชทานลายผ้านี้ให้แก่ศิลปิน ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรมในทุกภูมิภาค เพื่อนำไปสร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่น
“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวพระดำริมาพัฒนาสร้างสรรค์ ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัย ก้าวทันอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก และปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ ดอนกอยโมเดล นาหว้าโมเดล บาติกโมเดล Young OTOP รวมถึงการพัฒนาโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และล่าสุดพระองค์ได้พระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า สิ่งที่พระองค์พระราชทานเกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจฐานราก”
โดยในงานแถลงข่าว ยังได้รับเกียรติจากที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่ นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ และนายพลพัฒน์ อัศวะประภา ร่วมพูดคุยถึงรายละเอียดหนังสือ “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025” ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับ ฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อนประจำปี 2025 และนับเป็นเล่มที่ 5 ในหนังสือพระนิพนธ์ด้านเทรนด์และแฟชั่น สำหรับการถักทอผืนผ้าและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่มีแนวคิดว่าด้วยการ “เชื่อมต่อถักทอภูมิปัญญา : Threads of Wisdom” ถ่ายทอดการเชื่อมโยง สืบทอด และการผสมผสานของภูมิปัญญาไทยเพื่องานหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแนวพระดำริภายใต้ 4 เทรนด์หลัก ได้แก่ Warm Embrace : โอบอ้อมอบอุ่น Paradise Found : สวรรค์เขตร้อน Silhouette of the Past : เงาแห่งอดีต และ Iridescent Dream : แพรวพราววาวฝัน
นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังนำเสนอแนวทางการสร้างสรรค์สิ่งทอสำหรับฤดูกาล นอกจากเทคนิค ยอดนิยมของสิ่งทอไทย อาทิ มัดหมี่ ยกดอก เกาะหรือล้วง ขิด และจก แล้ว ยังแนะนำรูปแบบเทคนิคการทอที่น่าจะนำกลับมาตีความใหม่ เช่น ผ้าทอเกล็ดเต่าหลากหลายขนาด ผ้ายกลายราชวัตรโคม/ดอกใหญ่ และเทคนิคผ้าขิดที่มีการตีความใหม่ ของกลุ่มหัตถกรรมทอผ้าขิดวัดโฆษาที่สอดคล้องกับกระแสแฟชั่นร่วมสมัย อีกความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนใน Thai Textiles Trend Book เล่ม 1-4 คือ การนำเสนอการผสมผสานเฉดสีสำหรับการใช้งาน (Colour Combination) ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านประยุกต์ใช้แนวคิดและองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น อันเป็นจุดประสงค์หลักของหนังสือเล่มนี้
ขอเชิญผู้ที่มีใจรักผ้าไทย เยาวชนคนรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจ เข้าชมนิทรรศการ “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025” ตามแนวพระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ สเฟียร์ ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ระหว่างวันที่ 11 – 14 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 – 18.00 น. โดยในวันที่ 12 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 – 16.30 น. และในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา เวลา 10.00 – 16.30 น. จะมีกิจกรรมเสวนา โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัย บรรณาธิการแฟชั่น ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ และอาจารย์มหาวิทยาลัย มาร่วมบูรณาการองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในทุกมิติ อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย และที่ปรึกษาโครงการ ผ้าไทยใส่ให้สนุก นายพลพัฒน์ อัศวประภา ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Asava และที่ปรึกษาโครงการ ผ้าไทยใส่ให้สนุก นายสธน ตันตราภรณ์ ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ นักวิชาการแฟชั่น ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย พร้อมด้วย ผศ. ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และที่ปรึกษาโครงการ ผ้าไทยใส่ให้สนุก นางจงกล พลาฤทธิ์ แฟชั่นไดเร็กเตอร์นิตยสารโว้ก ประเทศไทย และนายตะวัน ก้อนแก้ว ผู้ช่วยบรรณาธิการแฟชั่นนิตยสารโว้ก ประเทศไทย
สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปผู้สนใจหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025
สามารถดาวน์โหลดได้ทาง https://online.fliphtml5.com/rnqjs/tmaz/