วันที่ 12 ส.ค.67 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า...
สภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่หนังสือที่ลงนามโดยประธานสภานิสิตฯ ถึงศาสตราจารย์พิเศษ ดร. จิรนิติ หะวานนท์ ตุลการศาลรัฐธรรมนูญและอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีข้อกังวลต่อคำวินิจฉัยของศาสตราจารย์พิเศษ จิรนิติใน 2 ประเด็นคือ
1. การละเลยความสำคัญของกระบวนการพิจารณาความ
2. การใช้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโทษยุบพรรคการเมือง
สภานิสิตตุฬาฯจึงขอเรียนเชิญศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว และชี้แจงแนวทางการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนิติศาสตร์บัณทิต คณะนิติศาสตร์ต่อสภาฯในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เนื่องจากสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความถูกต้องเชิงวิชาการของการจัดการเรียนการสอนของศาสตราจารย์พิเศษ จิรนิติ ภายใต้หลักสูตรนิติศาสตร์บัณทิต อันเป็นเหตุมาจากการใช้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการนิติรัฐและนิติธรรม ที่อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในปัจจุบันและอนาคต
ข้อความข้างต้นทั้งหมดเป็นการสรุปเนื้อความที่สภานิสิต จุฬาฯเชิญศาสตราจารย์ จิรนิติ มาชี้แจงเรื่องคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล และให้ชี้แจงแนวทางการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนิติศาสตร์บัณทิต ของคณะนิติศาสตร์
สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคงมีความคิดที่ได้รับการซึมซับกันมาว่า "อำนาจเป็นของประชาชน" หรือ"ประชาชนต้องเป็นใหญ่" จึงนึกว่าสภาฯตัวเองมีอำนาจล้นฟ้า สามารถเชิญตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้มาชี้แจงการวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล ด้วยข้อกล่าวหาว่า อาจขัดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม โดยอ้างว่าอาจมีผลกระทบต่อมาตรฐานการเรียนการสอน ในหลักสูตรนิติศาสตร์บัณทิตก็ได้
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า การดำเนินงานกิจการนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มุ่งให้นิสิตนักศึกษาปกครองตนเอง ได้ในระดับหนึ่ง โดยมีองค์กรภายในมหาวิทยาลัยอันประกอบด้วยองค์การนิสิตนักศึกษา ทำหน้าที่ดำเนินกิจการของนิสิตนักศึกษา และสภานิสิตนักศึกษาทำหน้าที่เป็นตัวแทนนิสิตนักศึกษา ควบคุมติดตามการทำงานขององค์การนิสิตนักศึกษา มีอำนาจเช่น พิจารณางบประมาณที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้เพื่อกิจการนักศึกษา ตามที่ได้เก็บค่าธรรมเนียมจากนิสิตนักศึกษาเป็นค่ากิจกรรมนิสิตนักศึกษา หรือมีอำนาจเชิญองค์การนิสิตนักศึกษา หรือชมรมหรือชุมนุมกิจกรรมนิสิตนักศึกษาต่างๆมาชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินงานของชมรมและชุมนุมนั้นๆได้
ขอบเขตอำนาจของสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงครอบคลุมเฉพาะกิจการที่เกี่ยวกับนิสิตเท่านั้น ไม่มีอำนาจไปกำกับดูแลการเรียนการสอน ไม่มีอำนาจแม้แต่จะเชิญอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยมาให้ชี้แจงไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด อย่าว่าแต่จะเชิญให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาชี้แจงเรื่องคำวินิจฉัยของศาลเลย ซึ่งแม้แต่สภาผู้แทนผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจ เพราะนั่นคืออำนาจตุลาการ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยได้แบ่งแยกกันแล้วคือ อำนาจบริหารเป็นของรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติเป็นของสภา และอำนาจตุลาการเป็นของศาล หรือว่าสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เข้าใจหรือไม่มีความรู้เรื่องนี้
ข้อกังวล 2 ข้อที่อ้าง ดูแล้วก็เป็นแนวเดียวกับข้อโต้แย้งของ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยแก้ข้อโต้แย้งทั้งหมดอย่างชัดเจนไปแล้ว
สภานิสิต จุฬาลงกรณ์อาศัยอำนาจอะไรไปเรียกให้ตุลาการศาลธรรมนูญมาชี้แจงเรื่องการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นี่คือการล้ำเส้นอย่างไม่น่าให้อภัย จะเรียกว่าเป็นการ "เหิมเกริม" อย่างไม่มีขีดจำกัดก็คงไม่ผิดความจริงแต่อย่างใด แลยังเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลเสียด้วยซ้ำ
ก็แปลกที่สภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับไม่ติดใจการที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์อันเป็นการแทรกแซงการทำงานของศาลไทยและประเทศไทย อันเป็นการผิดมารยาททางการทูตอย่างชัดเจน ในขณะที่รัฐบาลประเทศเรา ไม่เคยออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์กรณีการก่อสงครามของสหรัฐอเมริกา และการให้การสนับสนุนอิสราเอลในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ แต่อย่างใดเลย หรือเป็นเพราะเห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน หรือกระทำสิ่งที่ถูกใจ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกใจ อย่างนั้นกระมัง
ท่านรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและท่านอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปกป้องเกียติยศของศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ซึ่งมีอาชีพหลักเป็นผู้พิพากษามาอย่างยาวนาน และสละเวลามาให้ความรู้จากที่ได้เรียนมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจากประสบการณ์จริงที่ท่านมีอย่างมหาศาลหรือไม่ หรือท่านจะวางเฉยอย่างที่เคยทำมาโดยตลอด เราต้องคอยติดตามต่อไป