เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่บริเวณสถานีสูบน้ำบ้านบุ่งหวาย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ได้จัดกิจกรรมกรรมเวทีแลกเปลี่ยน “กินปลา เว้าพื้นความหลังและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศของคนแม่น้ำชี” โดยมีชาวบ้านและนักวิชาการ กว่า 100 คน ร่วมงาน ซึ่งมีนายอนุสิทธิ์ บัวหุ่ง นายอำเภอคำเขื่อนแก้ว เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ทั้งนี้ตัวแทนจากภาคประชาชน นักวิชาการ ได้จัดเวทีรร่วมแลกเปลี่ยนความคิดโดยส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อย่างการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูล แม่น้ำชี เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศ และพันธุ์ปลาในแม่น้ำชีด้วยจึงต้องมีการเตรียมแผนในการฟื้นฟูพันธุ์ปลาธรรมชาติ
นายนิมิต หาระพันธ์ กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร กล่าวว่า ก่อนการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีตอนล่าง วิถีชีวิตชาวบ้านลุ่มน้ำชีถือได้ว่ามีปลาหลากหลายชนิด ชาวบ้านที่ถนัดหากินในแม่น้ำชีก็ลงไปหาปลาในแม่น้ำชี ชาวบ้านที่ถนัดหาปลาในกุด ลำห้วย หนอง ก็สามารถหากินได้ตามฤดูกาลซึ่งเป็นความมั่นคงทางด้านอาหาร หลังจากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีโดยเฉพาะ เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชีตอนล่าง และยังมีการพัฒนาแหล่งน้ำที่ไหลเชื่อมกับแม่น้ำชีทำให้ปลาไม่สามารถขยายพันธุ์ได้เนื่องจากแหล่งเพาะพันธุ์ปลาถูกทำลาย
นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร กล่าวว่า ก่อนการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูล ผู้คนในแม่น้ำชีได้รับอิทธิพลของการเคลื่อนย้ายปลาว่ายทวนน้ำจากแม่น้ำโขงสู่แม่น้ำมูล ก่อนว่ายขึ้นมาแม่น้ำชี เพื่อจะหาที่วางไข่ตามกุด วัง ป่าบุ่ง ป่าทาม ลำห้วย ก่อนจะขยายพันธุ์ปลาให้ชุมชนได้หากินตามความถนัดที่เครื่องมือของชุมชนสามารถผลิตขึ้นมา เมื่อก่อนชาวบ้านจะหาปลาเพื่อการยังชีพ และแลกเปลี่ยน ถือว่าเป็นวัฒนธรรมของคนลุ่มน้ำ ปัจจุบันเส้นทางน้ำจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีถูกปิดกั้นจากการสร้างเขื่อน
นายสิริศักดิ์กล่าวว่า งานวิจัยไทบ้านน้ำชีพบว่าปลาหลายชนิดลดลง เช่น ปลากด ปลาเคิง ปลาบึก ปลาปึ่ง ปลานาง ปลาขบ ปลาขะแยง ปลารากกล้วย ปลาสวดธง ปลาหมู เป็นต้น ส่วนปลาที่สูญหาย ได้แก่ ปลาชีโห ปลาคูณ ปลาเสือตอ เป็นต้น ขณะที่สัตว์น้ำที่พบเพิ่มขึ้นมาคือ ปลาช๊อกเก้อ
“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังกังวลต่อการพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ในภาคอีสานเราจะต้องร่วมกันเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้มีคนลักลอบนำปลาหมอคางดำมาปล่อยในแหล่งน้ำที่ชาวบ้านได้หากิน เนื่องจากจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นที่ชาวบ้านคนภาคอีสานใช้ทำมาหากิน ผมมองว่าอนาคตเราจะจัดทำวังปลา และขยายพันธุ์ปลาท้องถิ่น เพื่อเป็นการฟื้นฟูแหล่งอาหารของชุมชนคนลุ่มน้ำชี”นายสิริศักดิ์ กล่าว
นายนิรันดร คำนุ อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ข้อมูลของชาวบ้านเป็นสิ่งที่รัฐต้องรับฟังถึงผลกระทบและข้อเสนอต่อการจัดการน้ำ แต่หน่วยงานรัฐกลับไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลของชาวบ้าน เพราะหน่วยงานรัฐยังมีแนวคิดและความเชื่อในเรื่องความรู้และเทคโนโลยีของภาครัฐที่มีอยู่ แต่เป็นความรู้และเทคโนโลยีที่อาจไม่สัมพันธ์กับนิเวศของชุมชนและอาจใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น จึงเสนอว่าให้รัฐจะต้องมีการทบทวน และต้องยอมรับความรู้เรื่องภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชุมชน เนื่องจากผลกระทบจากโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันพบว่า ฝนไม่ตกกระจุกตัวแต่ฝนได้ตกกระจาย พื้นที่ไม่เคยท่วมก็ถูกน้ำท่วม พื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง รัฐควรทบทวนการจัดการน้ำใหม่และฟังเสียงชาวบ้านให้มากขึ้น
ผศ.ดร ภัทรพงษ์ เกริกสกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า เรื่องน้ำเรื่องปลาถือได้ว่าเป็นฐานทรัพยากรที่ไม่มีขอบเขตกั้น เนื่องจากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะเดินทางไปไหนก็ได้ และเป็นทรัพยากรที่รัฐไม่สามารถจะมาออกแบบจัดการได้ง่าย บทเรียนน้ำชีสะท้อนให้เห็นชัดถึงการจัดการน้ำของรัฐที่ล้มเหลวผ่านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมองว่าการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำชีก็เกิดจากรัฐที่ไม่เข้าใจระบบนิเวศของพื้นที่ ดังนั้นในพื้นที่จะต้องมีกระบวนการในการรวบรวมและจัดการข้อมูล ด้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ข้อมูลด้านภูมิปัญญาของชาวบ้านในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ให้เป็นระบบ