วันที่ 9 ส.ค.67 นายนพดล ผุดผ่อง เกษตรจังหวัดยโสธร พร้อมด้วยนางสาวรัชนีกร พบบุญ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร นายอำนาจ ยงยืน เกษตรอำเภอมหาชนะชัย และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามแปลงต้นแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังที่ แปลงใหญ่มันสำปะหลังบ้านคุ้ม ม.2,6,9 ตำบลคูเมือง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
นายนพดล ผุดผ่องเกษตรจังหวัดยโสธรกล่าวว่าในการแปลงต้นแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง จะเน้นการทำแปลงมันสำปะหลังพันธุ์ดี เพื่อเป็นแหล่งพันธุ์ให้แก่เกษตรกรในกลุ่ม และขยายผลแก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยกลุ่มจะมีการจัดทำธนาคารท่อนพันธุ์ชุมชน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณในการทำแปลงพันธุ์ดีจะต้องส่งคืนท่อนพันธุ์จำนวน 50 % หรือครึ่งหนึ่งจากที่เก็บเกี่ยวได้เข้าธนาคารท่อนพันธุ์ชุมชน เพื่อขยายต่อให้แก่เกษตรกรรายอื่นภายในกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่อไป
โดยการจัดทำแปลงต้นแบบ มีขั้นตอนประกอบด้วย 1.คัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ไม่เป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก ไม่มีการระบาดของโรคหรือห่างจากแปลงที่พบโรคอย่างน้อย 500 เมตรหรือพื้นที่ที่มีการระบาดน้อยแต่สามารถควบคุมการระบาดได้ และไม่อยู่ใกล้บริเวณพืชอาศัยของแมลง/ไวรัส 2.คัดเลือกพันธุ์ทนทานโรคใบด่าง ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง60 ระยอง 72 ท่อนพันธุ์อายุ 8 - 12 เดือน โดยตัดไว้ ไม่เกิน 15 วันเลือกท่อนพันธุ์ที่ปราศจากโรคไม่แสดงอาการไม่มีการทำลายของโรคใบด่าง แช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูก 3.การตรวจแปลงพันธุ์ ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร 4.การเก็บเกี่ยว
อายุเก็บเกี่ยว 8 - 12 เดือน ตัดต้นมันสำปะหลังให้มีความยาวไม่น้อยกว่า 80 ซม.มัดรวม 20-25 ลำ/มัด การเก็บรักษาต้นพันธุ์ ควรวางตั้งในที่ร่มให้โคนชิดดินหรือใชัดินพูนโคน
นายนพดล กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง เป็นโครงการที่กรมส่งเสริมการเกษตร มีความมุ่งหวังเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้มีความสามารถในการผลิตมันสำปะหลังที่ตอบสนองกับยุทธศาสตร์และนโยบาย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพของเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังต่อไป