"คลัง" แจง สตง.แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหนี้ประเทศเพิ่ม แต่เป็นกลไกปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ย้ำทำด้วยความระมัดระวัง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมชคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ส่งรายงานถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) แนะให้รัฐบาลระวังโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต พร้อมทั้งให้นำความเห็นและข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มาประกอบการพิจารณาในหลายประเด็น ยืนยันว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้รับความคิดเห็นของทุกหน่วยงานที่ส่งเข้ามาทุกครั้ง เพื่อนำไปพิจารณาดูว่าจะสามารถดำเนินการในประเด็นใดได้บ้าง สะท้อนจากที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดและข้อจำกัดต่าง ๆ ในโครงการ ซึ่งเป็นไปตามกลไกเพื่อให้ล้อไปกับข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์จากทุกหน่วยงานต่างๆที่รัฐบาลรับมาและดำเนินการแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกหน่วยงานอยู่แล้ว และมีการดำเนินการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของโครงการตามความเหมาะสมเรียบร้อย

ส่วนความคิดเห็นและข้อสังเกตของ ธปท.เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) การกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายโครงการ ถึงความเสี่ยงที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่มนั้น รัฐบาลมีกลไกหลายกลไกที่ดำเนินการในเรื่องนี้ เช่น เรื่องการบังคับการใช้จ่าย 2 รอบ รวมถึงการตัดร้านค้าขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการก็เป็นอีกกลไกที่ตอบสนองโจทย์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายที่กระจายตัว ไม่กระจุกตัว

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น และมินิบิ๊กซี เป็นต้น สามารถเข้าร่วมโครงการได้นั้น ยืนยันว่าร้านสะดวกซื้อดังกล่าวเข้าร่วมโครงการได้จริง แต่ในคำว่าร้านสะดวกซื้อก็ไม่ได้มีแค่ร้านดังกล่าว เพราะตามข้อเท็จจริงรัฐบาลมีลิสต์รายชื่อร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศในปัจจุบันเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามชนบท ดังนั้นการจะไปตัดสิทธิ์ร้านสะดวกซื้อทั้งหมดก็อาจจะต้องมาพิจารณากันอย่างละเอียด

ขณะที่ความเห็นของ สศช.ระบุว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคเพิ่มเติม แต่ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุของการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวนั้น อาจเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน กลไกนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่ไม่ใช่มิติเดียว โดยรัฐบาลยังเร่งดำเนินการในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม s-curve การพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเลตนั้นเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แต่ยังเป็นกลไกในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาวด้วย

ทั้งนี้ประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าเหตุใดรัฐบาลไม่แจกเป็นเงินสด ตรงนี้ขอชี้แจงว่า ด้วยกลไกนี้รัฐบาลต้องการที่จะปรับให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันและรองรับเศรษฐกิจที่มันเปลี่ยนไปในรูปแบบดิจิทัล อย่างไรก็ดียืนยันว่าการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเลตยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง แม้จะต้องยอมรับว่าโครงการจะต้องมีการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะเข้ามาเติมในหนี้สาธารณะ เป็นการขาดดุลเพิ่มเติม แต่รัฐบาลจะบริหารงานอย่างระมัดระวัง โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 11.5 ล้านล้านบาท แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านล้านบาทเป็น 10 ล้านล้านบาท แต่ไม่มีกลไกในการบริหาร พัฒนาหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเลย ขณะนั้นควรเตือนกันบ้าง แต่ทำไมไม่เตือน

#ข่าววันนี้ #สตง #ดิจิทัลวอลเล็ต #หนี้ประเทศ #ธปท #สภาพัฒน์