“เกณิกา” แถลงผลงานรัฐบาลเศรษฐา เดินหน้าเร่งแก้ปัญหายาเสพติด ปราบปราม-บำบัดฟื้นฟู เผาทำลาย ยึดทรัพย์ แก้ทุกมิติ โดยมีตัวชี้วัด 25 จังหวัด ใน 3 เดือน ย้ำ เห็นผลแน่
วันที่ 9 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าผลงานรัฐบาลในรายการ “ไฮไลต์ไทยคู่ฟ้า” โดยย้ำถึงเรื่องของการปราบปรามแก้ไขปัญหายาเสพติดทุกมิติตามนโยบายรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้ง ปปส. ตำรวจ ทหาร พลเรือน อสม. ผ่านการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลโดยเฉพาะการปราบปรามและบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยให้ผู้เสพไม่กลับไปเสพซ้ำอีกเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวและในสังคมได้ตามปกติ โดยในด้านการปราบปรามยาเสพติดนั้น นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าหมายที่จะปราบปรามอย่างจริงจัง โดยตลอดระยะเวลา 11 เดือนที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมทำงานแบบบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม ทหาร และตำรวจ พร้อมทั้งลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในแต่ละจังหวัดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้ไปศึกษาต้นแบบที่จังหวัดร้อยเอ็ด ธวัชบุรีโมเดล และจังหวัดน่าน ท่าวังผาโมเดล ที่เป็นจังหวัดสีขาว ด้วยหลัก 4 ข้อ 1.ปราบปราม โดยให้เจ้าหน้าที่สแกนพื้นที่ คัดแยก ผู้เสพ ผู้ค้า 2.บำบัด โดยกระทรวงสาธารณสุข 3.ฟื้นฟูให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ และ 4.อยู่อย่างยั่งยืน มีอาชีพติดตัว ทั้งนี้ การสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ปี 2566 มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 66 คดี แต่ในปี 2567 มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 126 คดี เพิ่มขึ้นกว่า 91% อีกทั้งยังมีการทำลายยาเสพติดของกลาง โดยสำนักงาน ป.ป.ส. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้นรวม 5 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 11 เดือน ซึ่งเมื่อก่อน มีกำหนดการเผา เพียงปีละ 1-2 ครั้ง เท่านั้น โดยยอดรวมเผา 5 ครั้ง มีน้ำหนักสุทธิยาเสพติดของกลางรวม 344.49 ตัน รวม 878,195 คดี สำหรับด้านการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มียอดการบำบัดสะสม 140,019 คน โดยมีการแบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสีเขียว ผู้ป่วยยาเสพติดที่ไม่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย 2.กลุ่มสีเหลือง ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย แต่อยู่ในระยะอาการสงบ 3.กลุ่มสีส้ม ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย อยู่ในระยะอาการกำเริบและมี 5 สัญญาณเตือนที่จะก่อเหตุรุนแรง และ 4.กลุ่มสีแดง ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการจิตเวชร่วมด้วยและกำลังแสดงอาการอาละวาด คลุ้มคลั่ง ทั้งนี้ ผลการบำบัด รักษา จำนวน 63,093 คน มีผู้บำบัด รักษา ครบโปรแกรม จำนวน 56,633 คน ไม่ครบโปรแกรม จำนวน 6,460 คน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีสายด่วน 1165 สายด่วนบำบัดยาเสพติด และสายด่วน 1386 สายด่วน ป.ป.ส. แจ้งเบาะแสผู้เสพ/ขาย หรือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งเบาะแสให้กับประชาชนด้วย
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ทุกคน พร้อมทั้งต้องการสร้างกำลังใจ แรงจูงใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เคาะบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด โดยการคำนวณกรอบโควตาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดประเภทโดยตรงในอัตราร้อยละ 2.5 คิดเป็นอัตราไม่เกิน 9,316 อัตรา และประเภทเกื้อกูลในอัตราร้อยละ 1.5 คิดเป็นอัตราไม่เกิน 3,731 อัตรา รวมทั้งสิ้น 13,047 อัตรา ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวนทั้งสิ้น 85,718,790 บาท