“ศุภมาส” แถลงข่าวการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 ภายใต้แนวคิด “Future Science Community for All” วันที่ 16 - 25 สิงหาคม 2567 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี 104 หน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศร่วมจัดยิ่งใหญ่เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีคุณูปการต่องานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการศึกษาของประเทศไทย ห้ามพลาด! นิทรรศการหลากหลายสุดล้ำทั้ง AI ฉลาดเหนือมนุษย์ อาชีพ STEM แห่งอนาคตและนิทรรศการใหม่ที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อนอย่าง ““ต้องรอด! ในดินแดนสุดขั้ว” ร่วมสำรวจมหานครทะเลทราย

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.67 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 ภายใต้แนวคิด “Future Science Community for All” โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว., ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และผู้บริหารของกระทรวง อว. ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานร่วมจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 เข้าร่วม โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการฉายไฮไลท์สำคัญๆ ของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะมีขึ้นทั้งเรื่องของ AI เรื่องอาชีพ STEM แห่งอนาคต เรื่องชีวิตในทะเลทราย เป็นต้น

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า  การจัดงาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567" ในปีนี้ นับเป็นการเฉลิมฉลองวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติและเป็นปีมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าสู่การเป็นพลเมืองที่มีความรู้ ความสามารถและพร้อมที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประเทศชาติ ทั้งนี้ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 25 สิงหาคม 2567 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “Future Science Community for All” คือส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนและประชาชนสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต สำหรับรูปแบบการจัดงานเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เราได้สร้างสรรค์กิจกรรม และนิทรรศการที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ โดยออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้และสัมผัสกับวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิด

“ดิฉันขอเชิญชวนทุกคนเข้าร่วมงานนี้ เพราะงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เยาวชนจะได้จุดประกายความคิด เกิดความรักความสนใจในวิทยาศาสตร์และสามารถต่อยอดการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต ขณะที่ครอบครัวจะได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สร้งประสบการณ์ร่วมกันที่น่าประทับใจ ได้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกันในบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน” นางสาวศุภมาส กล่าว

จากนั้นนางสาวศุภมาสและนายเพิ่มสุขและผู้บริหารกระทรวง อว.ได้ร่วมกันปล่อยขบวนคาราวาน “สุข สนุก วิทย์” ขณะที่ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.NSM ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 มีหน่วยงานร่วมจัดกว่า 100 หน่วยงานแบ่งเป็นหน่วยงานทั้งของกระทรวง อว. ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม พิพิธภัณฑ์ฯลฯ จำนวน 69 หน่วยงานและหน่วยงานต่างประเทศ 35 หน่วยงานจาก 9 ประเทศทั้งฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน สวีเดน สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น ดังนั้น งานจึงมีความยิ่งใหญ่และหลากหลาย โดยนิทรรศการหลัก ประกอบด้วยนิทรรศการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีคุณูปการต่องานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการศึกษาของประเทศไทย นิทรรศการเทิดพระเกียรติ “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาการศึกษาไทยตั้งแต่ระดับประถมจนอุดมศึกษา การสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในพระมหากรุณาธิคุณด้านการอุดมศึกษาไทย ดังพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนนีพันปีหลวง นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ผอ. NSM กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นจะมีนิทรรศการเรื่องของ AI ที่มนุษย์แท้ ห้ามพลาด! อาทิ นิทรรศการ The Multiverse of AI:Trick or Truth ในยุคที่ AI ฉลาดเหนือมนุษย์ เราจะอยู่กันอย่างไร? เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อร่วมออกเดินทางสำรวจจักรวาลแห่ง AI ที่จะพาทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์เบื้องหลังนวัตกรรมแห่งอนาคต ทึ่งในความมหัศจรรย์ของ AI ที่พร้อมเสริมสร้างทักษะพลเมืองดิจิตัล นิทรรศการอาชีพ STEM สร้างอนาคต เปิดโลกอาชีพวิทย์แสนสนุกของเด็กและเยาวชนให้รู้ทักษะเด่นของตัวเอง เติบโตอย่างมีเป้าหมายและได้ทำงานในสิ่งที่รักอย่างสนุกสนาน นิทรรศการเคมีปั้นแต่งโลก เรียนรู้ความความสำคัญของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีต่อความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นต้น

“ที่สำคัญจะมีนิทรรศการใหม่ที่จัดแสดงเป็นครั้งแรกคือ “ต้องรอด! ในดินแดนสุดขั้ว” ร่วมสำรวจมหานครทะเลทราย ดินแดนลึกลับที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด พาทุกคนเดืนทางเข้าสู่ดินแดนแห้งแล้งสุดขั้ว สัมผัสระสบการณ์ในดินแดนทะเล 4 แบบ ร่วมค้นหาพืชและสัตว์แปลกตาที่อยู่รอดในดินแดนแห้งแล้งพร้อมผจญภัยและเรียนรู้วิถีชีวิตชาวเบดูอิน  สนุกกับการทดลองขี่อูฐและร่วมเฉลิมฉลองให้กับปีสากลแห่งอูฐ เรียกว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง” ผศ.ดร.รวิน กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการพินิจศิลปะ สรีระศิลป์ การประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน กิจกรรมการเรียนรู้และห้องทดลองวิทยาศาสตร์ การเสวนาวิชาการนานาชาติ เป็นต้น

สำหรับโรงเรียนที่ต้องการเข้าชมงานเป็นหมู่คณะ ติดต่อจองเข้าชมงานได้ที่เว็บไซต์งาน หรือ ติดต่อ อพวช. โทร 02 577 9960 ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ  Facebook งาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH  หรือสอบถามข้อมูลที่ อพวช. โทร. 0 2577 9960