กล่าวกันว่า ไม่ผิดอะไรกับการ “รับน้อง” รัฐบาลใหม่ของอังกฤษ ที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศกันเลยก็ว่าได้
สำหรับ การชุมนุมประท้วงที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นจลาจล ซึ่งเริ่มปะทุตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม เป็นต้นมา ต่อเนื่องจนถึง ณ ชั่วโมงนี้
โดยการชุมนุมประท้วง หรือม็อบข้างต้นนั้น เกิดขึ้นมาจากการถูกจุดกระแสของความโกรธแค้นอย่างรุนแรงต่อกรณีที่มีชายวัยรุ่น อายุ 17 ปี ใช้มีดเป็นอาวุธไล่กราดแทงเหล่าเด็กนักเรียนหญิง ที่กำลังเรียน ฝึกซ้อมเต้นที่สโมสรแห่งหนึ่งในเมืองเซาท์พอร์ต ย่านเมอร์ซีไซด์ ทางชายฝั่งตะวันตกของอังกฤษ จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 5 คน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา
หลังจากนั้นอีก 1 วันถัดมา การชุมนุมประท้วง ก็เริ่มปะทุที่เมืองเซาท์พอร์ต อันเป็นเมืองของสาเหตุกำเนิดต้นเรื่อง
ด้วยกระแสต่อต้านผู้อพยพที่เป็นมุสลิม จากการที่มีการปลุกกระแสเพื่อให้เกิดความไม่พอใจว่า ชายวัยรุ่น 17 ปี ที่ลงมือก่อเหตุนั้น เป็นผู้อพยพจากประเทศอื่นมาอาศัยอยู่ในอังกฤษ และยังมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม หรือเป็นมุสลิม นั่นเอง
ส่งผลให้เกิดกระแสสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อชาวมุสลิมที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในอังกฤษ
ถึงขั้นมีรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง บุกจู่โจมมัสยิด และที่พักของผู้อพยพชาวมุสลิม ไม่เว้นแม้กระทั่วโรงแรมอันเป็นที่พักพิงชั่วคราวของผู้อพยพชาวมุสลิมในอังกฤษดังกล่าว เพื่อหลบหนีต่อการถูกกลุ่มม็อบโจมตี หรือทำร้ายเอา ก่อนที่การชุมนุมประท้วงดังกล่าว ได้กลายเป็นจลาจล ทั้งการปล้นสะดม จุดไฟเผาทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ รวมถึงการทำร้ายของผู้คนต่าผิวสี ซึ่งมีรายงานว่า เหตุชุมนุมประท้วง ที่กลายเป็นจลาจลข้างต้น ถูกจุดและปลุกกระแสให้เกิดความรุนแรงโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดแบบขวาจัดในอังกฤษ
ระบุชื่อกันด้วยก็คือ “สันนิบาตปกป้องอังกฤษ” ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นกลุ่มพวกขวาจัด ที่มีแนวคิดชาตินิยมอย่างตกขอบ ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 2009 (พ.ศ. 2552) และถูกยุบกลุ่มกันไปแล้วในปี 2015 (พ.ศ. 2558) แต่ทางสมาชิกของกลุ่มฯ ยังคงเคลื่อนไหวกันอยู่ รวมทั้งแนวคิดแบบขวาจัด ก็ยังเป็นมรดกตกทอดสืบมาอย่างต่อเนื่องถึง ณ ปัจจุบัน เป็นผู้จุดกระแสม็อบที่กำลังเขย่าเกาะผู้ดี คือ ประเทศอังกฤษในครั้งนี้ด้วย
มิหนำซ้ำไฟม็อบเขย่าอังกฤษในครั้งนี้ ก็ยังได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นกระแสการชุมนุมประท้วงในเมืองต่างๆ ของอังกฤษ และยังการชุมนุมประท้วงที่มีพฤติกรรมแสดงออกถึงความรุนแรงอย่างน่าสะพรึงอีกต่างหากด้วย โดยมีทั้งการป่วนเมือง การเผาทรัพย์สิน และปล้นสะดมอย่างน่าสะพรึง สะท้านขวัญของผู้คน ในพื้นที่หลายเมือง เช่น ลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ฮาร์เทิลพูล อัลเดอร์ชอต ซันเดอร์แลนด์ และการชุมนุมประท้วงที่บานปลายกลายเป็นจลาจล ยังลุกลามไปถึงกรุงเบลฟาสต์ นครหลวงเมืองเอกของไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในดินแดนในเครือของสหราชอาณาจักรอีกต่างหากด้วย
กล่าวกันว่า เหตุม็อบจลาจลในอังกฤษครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 13 ปีเลยก็ว่าได้ หรือนับตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นจลาจลขึ้นมาเมื่อปี 2011 (พ.ศ. 2554)
ผลของม็อบจลาจลในครั้งนี้ ก็ทำให้ได้รับบาดเจ็บกันถ้วนหน้าทั้งในส่วนของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน ไม่เว้นกระทั่งสุนัขตำรวจ ที่มาร่วมปฏิบัติการควบคุมฝูงชน ก็มีรายงานว่า ได้รับบาดเจ็บไปไม่น้อยกว่า 7 ตัว
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ในการชุมนุมประท้วงโดยกลุ่มขวาจัดดังกล่าว ก็สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้แก่ประชาชนชาวอังกฤษทั่วไปถึงขนาดรวมตัวต่อต้านจัดเป็นม็อบต่อต้านกลุ่มขวาจัดขึ้นมา และเกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างม็อบทั้งสองกลุ่ม จนต่างฝ่าย ต่างก็ได้รับบาดเจ็บไปตามๆ กัน
ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ก่อจลาจล ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไปเกือบ 500 คนด้วยกัน ในจำนวนนี้ถูกตั้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีไปแล้ว 120 คน ส่วนที่เหลือรอผลการสอบสวน ซึ่งหากพบว่า มีความผิดจริง ก็จะถูกตั้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีต่อไป
โดยเหตุชุมนุมประท้วงที่บานปลายกลายเป็นจลาจลที่กำลังเขย่าเกาะอังกฤษในครั้งนี้ ก็ได้การกล่าวขานว่า เป็นปฐมบท โจทย์แรก ในการท้าทายต่อ “เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์” ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง เรียกว่า เข้าบ้านเลขที่ 10 ถ.ดาวนิง กรุงลอนดอน ในฐานะนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ไม่ถึงเดือน ก็มีปัญหาโจทย์ใหญ่ให้แก้ไข
นอกจาก “นายกรัฐมนตรี เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์” ถูก “รับน้อง” แล้ว ก็ยังมี “นางเยตี คูเปอร์” ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ” ในรัฐบาลของเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ก็ผจญชะตากรรม เจอ “รับน้อง” จากโจทย์ปัญหาม็อบจลาจลในครั้งนี้ให้แก้กันด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อว่ากันถึงทั้งสองคนนี้ ต้องบอกว่า รัฐมนตรีคูเปอร์ ต้องนับว่า เป็นน้องใหม่โดยแท้ เพราะเพิ่งเจอกับโจทย์ปัญหานี้ แตกต่างจากนายกรัฐมนตรีเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ที่เคยมีประสบการณ์รับมือม็อบจลาจลในลักษณะนี้มาแล้ว ในเหตุการณ์ “ม็อบจลาจลเมื่อปี 2011 (พ.ศ. 2554) หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว
โดยในเหตุการณ์ม็อบจลาจล ปี 2011 นั้น เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ยังอยู่ในตำแหน่ง “อัยการใหญ่” ของทางการอังกฤษ ซึ่งท่านเซอร์ฯ ได้ใช้ความเด็ดขาดจากการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดจากการชุมนุมประท้วงและก่อจลาจล สร้างความวุ่นวายในครั้งกระนั้น
ส่วนในการรับมือม็อบจลาจล 2024 (พ.ศ. 2567) นี้ ท่านเซอร์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศ ก็ระบุว่า จะระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ มารักษาการณ์ ควบคุมฝูงชน ที่กำลังดีเดือดอารมณ์ขึ้นจากกระแสการชุมนุมประท้วงที่นำพาไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่านี้ ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีจนมีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ในที่เขาทำงานในแวดวงกฎหมายมาอย่างยาวนาน ก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่กระทำความผิดกฎหมาย ซึ่งเขาเคยใช้มาแล้วในระหว่างเป็นอัยการใหญ่ ในช่วงที่ประเทศเผชิญกับม็อบจลาจลเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ส่วนในเหตุม็อบจลาจลครั้งนี้ ก็ดำเนินคดีไปแล้วกว่า 120 คน และจะเร่งสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมประท้วงที่กระทำความผิดกฎหมายที่จับกุมตัวอีกนับร้อยที่เหลืออยู่อย่างเข้มงวดเคร่งครัดต่อไป