กรณีปลาหมอคางดำส่งออกเป็นปลาสวยงามที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ เหมือนการโต้วาทีว่ามีหรือไม่มี ทั้งสองฝ่ายต้องทำการบ้านอย่างดี เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ติดตามเทใจเชื่อฝ่ายตนเอง เบื้องต้นต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความเป็นกลางก่อนว่าการส่งออกปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงามมีความเป็นไปได้เท่าๆกัน 50:50 ส่วนจะฟันธงว่าจริงหรือไม่ต้องมาดูหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นตัวสร้างความเชื่อถือให้กับสังคม

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นความเป็นไปได้ของเรื่องนี้ 50:50 หากเป็นสถานการณ์ปกติที่ไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เชื่อว่าการสืบค้นและเก็บรายละเอียดจะได้ความจริงเกือบ 100% แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ การเก็บข้อมูลอาจจะทำได้ไม่เต็มที่ เพราะทุกคนต้องระมัดระวังไม่ให้ภัยมาถึงตัว แม้ว่าจากการสัมภาษณ์พ่อค้า-แม่ค้าปลาในตลาดนัดปลาสวยงามสวนจตุจักรและตลาดปลาสวยงามราชบุรี ซึ่งเป็นตลาดปลาสวยงามใหญ่ที่สุดในประเทศ ให้ข้อมูลว่ามีไม่เห็นการซื้อ-ขาย หรือเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงามเพราะปลาสีสันไม่สวยคนไม่นิยม การไม่เห็นอาจจะไม่ได้แปลว่าไม่มี  

ทั้งนี้ นายไศลพงศ์ สุสลิลา นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ได้วิเคราะห์ว่า ในมุมของผู้เพาะเลี้ยงปลาแปลก ให้ข้อมูลว่ามีการเพาะเลี้ยงกันแต่อาจจะไม่ได้เปิดเผย เป็นการเลี้ยงเฉพาะกลุ่มและนำไปผสมกับปลาสายพันธุ์ชนิดอื่นที่ต้องการลักษณะเด่น เช่น เส้นสายหรือจุดสีดำบนตัวปลา ความต้านทานโรค เป็นต้น เพื่อให้ได้ปลาสายพันธุ์ใหม่ที่มีความแตกต่างตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งเหตุผลนี้ก็ควรนำมาพิจารณาประกอบด้วยเช่นกัน 

อีกปัจจัยที่ได้รับแชร์ผ่านช่องทาง Tiktok เมื่อเร็วๆนี้ เป็นการรายงานจากตลาดปลาสวยงามจตุจักร พบปลาดุกสีขาวและปลาบางชนิดในท่อระบายภายในตลาด จึงเกิดคำถามว่าปลาพวกนี้มาจากไหน ข้อมูลเหล่านี้อาจจะไม่มีใครอยากเปิดเผยก็เป็นไปได้ เพราะปัจจุบัน ปลาตกเกรด ปลาที่มีลักษณะไม่ดี ต้องถูกคัดทิ้ง รวมถึง Alien Species บางชนิดยังถูกนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ คลอง หรือแม้แต่เททิ้งในท่อระบายน้ำ ก็มีหลายคนเคยพบเห็นกันมาบ้างแน่นอน จึงเป็นไปได้เช่นกันที่ปลาที่ถูกคัดทิ้งผู้เลี้ยงจะเททิ้งในแหล่งน้ำใกล้ฟาร์มและว่ายไปตามกระแสน้ำได้ 

นอกจากนี้ อธิบดีกรมประมง ยังยอมรับกับที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ว่าระหว่างปี 2556-2559 ตรวจสอบแล้วพบว่า มีการส่งออกปลาเมื่อปี 2556-2559 ไป 17 ประเทศ มีผู้ส่งออก 11 ราย มีปลาที่ส่งออกทั้งสิ้น 230,000 ตัว แม้จะมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมภายหลังว่าเป็นลงระบบผิดพลาดของชิปปิ้ง ว่าปลาที่ส่งออกจริงคือปลาหมอเทศข้างลายก็ตาม แต่คณะอนุกรรมาธิการฯ ยังไม่ทิ้งประเด็นนี้ และสอบถามกลับกรมประมงว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่กรมฯ จึงไม่ผิดสังเกตุ ปล่อยให้มีการกรอกข้อมูลผิดนานถึง 4 ปี และเป็นการระบุแบบเดียวกันทั้ง 11 บริษัท  

นอกจากนี้ ผศ.ดร.สพ.ญ.วรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำหน่วยสัตว์น้ำ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายไว้ว่า การส่งออกปลาหมอสีคางดำ” ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sorotherodon melanotheron และชื่อสามัญว่า Blackchin Tilapia ของทั้ง 11 บริษัท ขณะที่ปลาหมอเทศข้างลาย เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis aureus มีชื่อสามัญหลายชื่อ คือ Blue tilapia, Israeli tilapia, Blue kurper และเป็นปลาในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) รูปร่างทั่วไปคล้ายคลึงกับปลานิล (Oreochromis niloticus) และปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus) ซึ่งเป็นปลาในวงศ์เดียวกันและสกุลเดียวกัน และการส่งออก-นำเข้าจะยึดตามมาตรฐานสากลคือใช้ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญเป็นหลัก

ส่วนการพิสูจน์สายพันธุ์ปลาส่งออกว่าเป็นปลาหมอคางดำหรือปลาหมอเทศข้างลายนั้น ผศ.ดร.สพ.ญ.วรรณา ได้ย้ำว่า “คงต้องมีรูปภาพมายืนยันว่าตอนส่งออกนำปลาชนิดใดไปส่งออกเพราะหน้าตาของปลาทั้ง 2 ชนิดแตกต่างกัน ระดับผู้เชี่ยวชาญของรัฐเห็นภาพก็จะสามารถบอกได้ทันทีว่าคือปลาชนิดใด แต่จนถึงขณะนี้คงตรวจสอบยากเพราะเวลาผ่านมานาน”

จากข้อมูลทั้งหมดจึงไม่ควรด่วนตัดสิน ต้องได้หลักฐานมายืนยันความถูกต้องก่อนจึงจะยุติธรรม ตัวแปรสำคัญขณะนี้ คือ ผู้ส่งออกทั้ง 11 ราย และภาพของปลาที่ลงในระบบว่าเป็นปลาหมอสีคางดำส่งออกไปปลายทางทั้ง 17 ประเทศ แล้วกลับลำให้ข้อมูลว่าเป็นปลาหมอเทศข้างลาย แท้จริงแล้วคือปลาอะไรกันแน่ เพราะการตรวจสอบปลายทางก็ต้องยึดมาตรสากลคือวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญเป็นสำคัญ ยกเว้นการนำเข้า-ส่งออกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้จึงไม่ควรเข้าข้างฝ่ายใดทั้งนั้น