เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ส.ค. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เดินทางตรวจราชการ จ.ภูเก็ต
จากนั้นเวลา 11.10 น. นายกฯ พร้อมคณะเดินทางมายังศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เยี่ยมชมการบริหารจัดการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ทะเลอันดามัน โดยนายกฯได้ใช้รถตู้ทะเบียนขง 4477 ภูเก็ตในการลงพื้นที่
โดยนายกฯ รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธารและดูเต่ากระ เต่าตนุ เต่าหญ้า ที่บาดเจ็บ จากขยะในทะเล ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสัตวแพทย์ อธิบายถึงการรักษา ซึ่งนายฯ ได้สอบถามถึงปัญหาเศษขยะที่อยู่ในทะเล ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ว่าเป็นขยะประเภทไหน โดยสัตวแพทย์แจ้งว่า ส่วนใหญ่จะเป็นขยะในทะเลทั่วไป ขยะมาจากกิจกรรมทำการประมง รวมถึงพลาสติกต่างๆ ซึ่งสร้างความเสียหายจากการเสียดสีและเป็นรอยถลอก โดยเฉพาะเต่าที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก
โอกาสนี้นายกฯ ยังได้เยี่ยมชมบ้านพักของเจ้าหน้าที่ โดยบอกว่ารัฐบาลมีความเป็นห่วงเป็นใยข้าราชการ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณบ้านพักให้กับข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เพื่อให้เกิดความสะดวกที่อยู่อาศัยถือเป็นเรื่องสำคัญ เท่าที่เห็นบ้านพักเก่ามากแล้ว วันนี้ชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนไป การที่เราต้องสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการเป็นเรื่องสำคัญจะต้องดูแลกันให้ดี เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้
ตรงนี้จึงขอฝากไว้เป็นนโยบาย ทุกอย่างต้องค่อยๆทยอยทำเพื่อเป็นตัวอย่าง เราให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ข้าราชการ จะได้ไม่ขาดแคลนบุคลากรที่อยากจะเข้ามารับใช้ประเทศชาติ เพื่อเขามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี โดยต้องสร้างให้เสมอภาคเท่าเทียมกันด้วย สิ่งที่ต้องมีคือกฎกติกา ไม่เช่นนั้นบ้านจะเสื่อมโทรม คนที่มาอยู่วันข้างหน้าจะลำบาก ตรงนี้ขอความกรุณาด้วย ขอให้เร่งดำเนินการ
จากนั้นที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน (ภูเก็ต) ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต นายกฯ ประชุมพิจารณามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่ม โดยนายกฯ กล่าวว่า แผนระยะยาวก็ทำกันไป ซึ่งตนเดินทางมาภูเก็ตตั้งแต่คราวที่แล้ว ที่มาพื้นที่สีแดงในเกาะภูเก็ต 3 จุด แต่ถ้าทั่วประเทศที่เป็นพื้นที่สีแดง ถ้าไม่ทำแผนป้องกันเมื่อเข้าฤดูฝนจะเกิดปัญหา ตรงนี้ขอฝากให้เป็นเรื่องเร่งด่วน
นายกฯ กล่าวว่า ขอบคุณที่เรามาอยู่ตรงนี้ ซึ่งเป็นโครงการในองค์อุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ดูแล้วน่าประทับใจ หลายๆอย่างถ้าเราไม่มาดูกันเอง เป็นการทำงานที่เรียกว่าลงรายละเอียดอย่างมาก นับว่าเป็นเรื่องที่เราสามารถมาเรียนรู้อะไรหลายอย่าง มีผลกระทบในระยะยาว เช่น เต่าทะเลไม่ทราบเลยว่า 40 % ของเต่าและสัตว์ทะเลที่บาดเจ็บ เสียชีวิตเกิดมาจากขยะ ตรงนี้ถ้าเราสามารถนำเสนอสร้างการรับรู้ได้ดี และปกป้องได้ดีเรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้นยาก สัตว์ทะเลจะแพร่พันธุ์ได้ง่ายขึ้นและมีชีวิตยืนยาว
นายกฯ กล่าวว่า ตนเดินผ่านมาเห็นพิพิธภัณฑ์ที่กำลังก่อสร้างเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสนับสนุนการท่องเที่ยว เหนือสิ่งอื่นใด ต้องปลูกฝังจิตใต้สำนึก สัตว์ทะเลที่หายากเพราะเสียชีวิตจากความสะเพร่าหรือมักง่ายของมนุษย์ ฉะนั้นต้องปลูกฝังเรื่องการทิ้งขยะถือป็นเรื่องสำคัญ
นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนของบ้านพักข้าราชการที่อยู่ที่นี่มีประมาณ 80 - 100 กว่าครอบครัว ในหลายมิติเราอาจมองข้าม การเข้าสู่ระบบราชการ ตอนหลังไปภาคเอกชน เพราะมีผลตอบแทนที่ดีกว่า ข้าราชการปิดทองหลังพระ อย่างองค์กรนี้ต้องอยู่ที่นี่ ไปอยู่ที่อื่นไม่ได้ เมื่ออยู่ที่นี่การเดินทางก็ลำบาก ฉะนั้นการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับพนักงานถือเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ที่ตนลงไปไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร พยาบาล รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของข้าราชการ ให้ดำเนินการ เช่นเดียวกับกระทรวงอื่นๆ
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการป้องกันดินโคลนถล่มได้รับฟังข้อเสนอแนะ และปัญหาต่างๆ ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งการประสานงานกับทุกหน่วยงานสำคัญ แม้บางท่านไม่ได้อยู่ตรงนี้ กระทรวงคมนาคมหรือกรมทางหลวง การสร้างสะพานต่างๆ อาจเป็นอุปสรรคทางไหลของน้ำ จึงขอสั่งการทางผู้ว่าราชการจังหวัดประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดี อธิบดีกรมชลประทานก็ได้มีการเสนอแผนงานมาแล้ว ต้องทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ให้ดี อธิบายให้ฟังว่าประเด็นคืออะไร รวมถึงพื้นที่สีแดงที่มีความเสี่ยงสูง ที่เราเห็นในแผนที่
ซึ่งภูเก็ตมี 3 พื้นที่ มีมาตรการเร่งด่วนหรือไม่ ที่จะต้องโฟกัส เพราะตอนนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้วเป็นช่วงอันตรายที่เราต้องดูแลกันต่อไป และให้กรมทรัพยากรธรณี ตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนภัย ที่ต้องมีการซักซ้อม เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกครัวเรือน ทั้งน้ำป่า ภัยพิบัติ โคลนถล่ม พร้อมกันนี้ ให้ร่วมกันออกแบบการเฝ้าระวังและเตือนภัย ทั้งในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่อื่น ที่เป็นพื้นที่สีแดง โดยใช้ข้อมูลทางเทคโนโลยีเช้ามาช่วย เพราะความเป็นอยู่ของประชาชนและเรื่องสำคัญไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก