ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
“วัด” เป็นคำตอบสำหรับหลาย ๆ คน แต่บางคนก็ยังมีคำถามว่า “ปัญหาจะหมดไปจริง ๆ หรือ?”
กนิษฐาต้องเข้าวัดไปชั่วขณะหนึ่งเพราะเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป และคิดว่าตนเองจะไม่เจอปัญหาอะไรเลยเพราะได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ อย่างในกรณีของ “ป๊อก” ข้าราชการหนุ่มเพื่อนร่วมงาน ที่หลาย ๆ คนมองว่าเป็น “คนดีมาก ๆ” ซึ่งเขาก็เป็นคนดีจริง ๆ
ป๊อกไม่ได้แสดงอากัปกิริยาอย่างเช่นผู้ชายที่มีนิสัยเจ้าชู้ทั้งหลาย ครั้งแรกที่เจอกันกับกนิษฐาก็เป็นเพราะเธอไปจ้องหน้าเขาอยู่ครู่ใหญ่ เหมือนว่าเคยเห็นหน้าผู้ชายคนนี้ที่ไหน จนเขาพูดออกมาอย่างสุภาพว่า “มองหาใครอยู่หรือครับ?” เธอก็พูดออกไปตรง ๆ ว่า “หน้าตาคุณเหมือนคนในที่ทำงาน” แล้วพอเขาบอกว่าทำงานที่ไหน เธอก็ร้องอ๋อ แล้วก็เดินแยกกันไป จนวันต่อมาที่มาเรียนในสถาบันแห่งนั้น ทั้งสองก็ยิ้มให้กันเหมือนคนที่รู้จักกันโดยทั่วไป แต่ก็ไม่ได้พูดคุยหรือใกล้ชิดอะไรกัน กระทั่งมีคนเห็นทั้งคู่ยิ้มให้กันในที่ทำงาน จึงเริ่มมีคนไปกระซิบกันว่าทั้งสองน่าจะชอบกัน กระทั่งเพื่อนบางคนของกนิษฐาแอบเชียร์ว่าขอให้เป็นแฟนกันจริง ๆ แต่กนิษฐาก็ไม่ได้แสดงความรู้สึกไปในทางนั้น และยิ่งมีคนเชียร์เธอก็ยิ่งต้องกลับมานั่งคิดด้วยความระมัดระวัง เพราะชีวิตครอบครัวที่แม่เธอเคยประสบยังคงเป็น “ฝันร้าย” สำหรับเธออยู่เสมอ จึงยิ่งทำให้เธอพยายามจะถอยห่างออกจากป๊อกเสียด้วยซ้ำ
เหมือนจะเป็นพรหมลิขิตหรือกามเทพแผลงศร เมื่อกระทรวงที่ทั้งสองคนทำงานได้จัดสัมมนาข้าราชการในครั้งหนึ่งที่ต่างจังหวัด ในโครงงานที่ทั้งสองคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ร่วมกับข้าราชการในหน่วยงานอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง กระนั้นภาระความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายก็ทำให้ทั้งสองคนต้อง “ผูกพันกัน” ไปในระยะเวลาหนึ่ง คือไม่เพียงแต่ต้องทำงานด้วยกันไปโดยตลอดเป็นเวลา 1 ปีจนเสร็จสิ้นโครงงานนี้ แต่เมื่อโครงงานนี้เสร็จลงแล้ว ทั้งสองคนก็ยังจะต้องร่วมกันไปในโครงงานอื่น ๆ ที่สืบเนื่องกัน อย่างที่ภาษาราชการเรียกโครงงานแรกว่า “การนำร่อง” และเรียกโครงงานที่ต้องทำต่อ ๆ ไปว่า “การขยายผล”
ความใกล้ชิดจึง ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ป๊อกก็ไม่ได้แสดงที่ท่าว่าจะชอบเธอแบบหนุ่มสาว เพียงแต่แสดงความเป็นคนมีน้ำใจ เป็นสุภาพบุรุษมาก ๆ เป็นห่วงเป็นใยเธอทั้งน้ำเสียง สีหน้า และการกระทำต่าง ๆ จนทุก ๆ คนรอบข้างก็พูดกันว่าเขานั้นมาชอบเธอแน่ ๆ เธอจึงรวบรวมความกล้าถามป๊อกในวันหนึ่งว่า คิดชอบเธอบ้างหรือไม่ ซึ่งเขาก็ยังทำหน้างง ๆ แล้วถามว่า ถามทำไม เธอจึงบอกว่าเพื่อน ๆ เขาอยากรู้ เขาก็ตอบทันทีว่า ก็ชอบนะ แต่ชอบแบบเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน และยินดีเสมอที่จะให้ช่วยทำอะไร
เมื่อได้รับคำตอบอย่างนั้นเธอก็รู้สึกโล่งอก แต่พวกกองเชียร์(ที่ภายหลังน่าจะเป็นพวกที่เป็น “กองแช่ง” ร่วมอยู่ด้วย)ก็เอาเรื่องต่าง ๆ เข้ามากระแซะให้เธอว้าวุ่นอีก บางคนบอกเธอว่าป๊อกนั้นชอบเธอจริง ๆ นะ แต่ผู้ชายนั้นปากกับใจไม่ตรงกัน บางคนก็บอกว่าป๊อกพกรูปถ่ายที่ถ่ายคู่กับเธอไปอวดเพื่อนผู้ชายด้วยว่าเป็นแฟนกับเธอ แต่ที่เธอร้อนรนใจจนทนไม่ได้ก็คือ มีผู้หญิงคนอื่น ๆ เข้ามาพัวพันกับป๊อกอีกหลายคน บางคนนั้นป๊อกก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นพิเศษมากกว่าที่มีให้เธอเสียอีก ซึ่งคำพูดแบบนี้ได้ “กระแทกต่อมสติ” ของเธอจนระเบิดในฉับพลัน เพราะนิสัยอย่างหนึ่งของเธอคือ “แพ้ไม่ได้” แต่นั่นมันก็ไประเบิดอีกต่อมหนึ่งในสมองของเธอด้วย นั่นก็คือ “ต่อมหึงหวง” ที่เกิดขึ้นโดยที่เธอไม่รู้ตัว
กนิษฐาใช้วิธีของเธอในการหาคำตอบเกี่ยวกับป๊อก คือถามกับตัวของป๊อกแบบซึ่ง ๆ หน้าในวันหนึ่งว่า จริงหรือไม่ที่เขาไปคบกับผู้หญิงชื่อโน้นชื่อนี้ ซึ่งเขาก็ตอบว่าจริง แต่เป็นการคบกันแบบเพื่อนร่วมงาน เหมือนกับที่คบกับเธอนี่แหละ รวมถึงบางคนก็กลุ่มสมาคมต่าง ๆที่ต้องประสานงานหรือมีกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งก็เหมือนกับที่ปฏิบัติต่อเธอ กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เธอมีความสบายใจอะไรมากขึ้น เพราะต่อมาอีกระยะหนึ่ง เพื่อนของเธอก็ยังมาบอกเธออีกว่า ป๊อกได้ไปหมั้นหมายจะแต่งงานกับหญิงสาวในอีกกระทรวงหนึ่ง ที่ป๊อกบอกว่าเป็นแค่เพื่อนร่วมงานนั่นแหละ จึงเหมือนว่าเธอถูก “ฟาดที่แสกหน้า” เพราะเสียงรอบข้างกระแนะกระแหนว่าเธอเป็นผู้แพ้ เมื่อสุดทนเธอก็ต้องไปถามป๊อกแบบตรง ๆ อีกว่า จริงหละหรือที่เขาจะแต่งงานกับคน ๆ นั้น
ป๊อกตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบเหมือนเป็นปกติ เขารับว่าเรื่องที่เธอได้ยินมานั้นเป็นเรื่องจริง เขาบอกว่าเป็นการตกลงปลงใจและจัดแจงโดยครอบครัวของเขากับของผู้หญิงคนนั้น ซึ่งเขาก็ยินยอมตามที่ผู้ใหญ่ได้ตกลงกัน ความจริงเขานั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาชอบเป็นพิเศษ เพียงแต่เขาอาจจะไม่เหมาะกับเธอ เพราะเธอมีความเป็นผู้นำเหนือเขา และเขาอาจจะให้ในสิ่งที่ผู้หญิงคนนั้นต้องการไม่ได้ รวมทั้งไม่อยากจะทำให้ผู้หญิงคนนั้นเสียใจ ที่เขาอาจจะไม่ใช่ผู้ชายที่ดีที่สุดสำหรับเธอ และอยากให้เธอได้มีทางเลือก โดยที่เขาจะไม่เข้าไปผูกมัด หรือเป็นอุปสรรคต่ออนาคตราชการ ที่สำคัญคือ “อนาคตหัวใจ” ของเธอ
วูบแรกที่เธอได้ยินคำตอบทั้งหมดดังข้างต้น เธอตัวชาหน้ามืดเหมือนจะเป็นลมไปชั่วขณะ แต่ก็สะอึกตัวลืมตาขึ้น ก่อนที่จะขอบคุณที่เขาให้คำตอบมาดังกล่าว แล้วเขาก็ขอตัวไปทำงาน แต่เธอนั้นลุกเดินไม่ได้ไปหลายนาที ก่อนที่จะไปลางานแจ้งว่าป่วยและกลับบ้านทันที เธอมองเข้าข้างตัวเองว่า “ผู้หญิง” ที่ป๊อกชอบเป็นพิเศษกว่าคนอื่นนั้นก็คือเธอนี่เอง เพราะเท่าที่ได้ใกล้ชิดกันมาหลายปี เธอก็มองไปรอบตัวแล้วว่า ไม่เคยเห็นจะมีผู้หญิงอื่นที่ป๊อกให้ความใกล้ชิดสนิทสนมไปมากกว่าเธอเลย เธอคิดเรื่องนี้ต่อมาอีกหลายวัน และเหมือนจะเบื่อหน่ายไปทุกอย่าง ที่สุดเธอต้องลาพักร้อน และไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัดอยู่เกือบสิบวัน
เธอไม่รู้ตัวว่าหรอกว่า อาการแบบนั้นเรียกว่า “อกหัก” เธอคิดแต่ว่านั่นคือความพ่ายแพ้ เหมือนกับเล่นเกมอะไรบางอย่างแล้วสู้เขาไม่ได้ ซึ่งโดยนิสัยของเธอไม่ยอมแพ้ใคร รวมถึง “แพ้ใครไม่ได้” ระหว่างที่พักร้อนเธอแวบเข้าไปที่วัดป่าแห่งหนึ่ง กะว่าจะไปไหว้พระให้สบายใจ แต่ก็ยิ่งไม่สบายใจเมื่อได้ไปสนทนากับ “หลวงพ่อ” เพราะแทนที่หลวงพ่อจะให้กำลังใจหรือพยายามเข้าใจและปลอบใจเธอ แต่เธอฟังเหมือนว่าหลวงพ่อจะมาคอยซ้ำเติมเธอให้เจ็บหนักยิ่งขึ้น ทั้งการตอกย้ำว่าความรักทำให้คนตาบอด หรือที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ฯลฯ และเมื่อเธอกลับมากรุงเทพฯ คุณยายที่เธอรักมาก ๆ ก็มาเสียชีวิตอีก ซึ่งเธอก็ยิ่งมีอาการซึมเศร้าเพราะทุกข์หนักมาก ครั้นจะหันไปพึ่งวัดเอาธรรมะเข้าระงับทุกข์ทั้งหลายนั้น ก็อายว่าเดี๋ยวพระท่านจะ “สวดตำหนิ” เอาอีก และก็ไม่ถูกกับนิสัยของเธอที่ต้องการจะเอาชนะสิ่งต่าง ๆ ด้วยการต่อสู้พยายามของตัวเอง ในทันใดนั้นเธอก็นึกขึ้นได้ว่าอย่าให้พลังลบเหล่านั้นมาทำลายชีวิตของตัวเอง อย่างที่คนสมัยต่อมาใช้คำพูดว่า “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” ด้วยความตั้งใจในทันใดว่าจะไม่เข้าวัด และจะสู้กับทุกสถานการณ์ในทุกสถานที่ อย่างที่เธอเคยทำได้ด้วยตัวของตัวเองนั้นต่อไป
ปัญหาหัวใจอาจจะหมดสิ้น แต่ปัญหาชีวิตยังมีมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะต่อสู้กับมัน “หรือไม่? อย่างไร?”