ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“กว่าหกทศวรรษที่ผมมีชีวิตอยู่ร่วมกับ “ครอบครัวแมว..” ..เลี้ยงดูอุ้มชู..ด้วยภาษาใจที่ทั้ง อ่อนโยน คึกคะนอง และ สลับซับซ้อน..ท่ามกลางความรู้สึกรักนี้ “ความทรงจำอันมีชีวิตชีวาเกิดขึ้นเสมอ..เป็นความบริสุทธิ์สูงส่ง..กระทั่งทุกวันนี้..ผมก็ยังคงนอนอยู่เคียงข้างกับแมว..ในวิถีของลูกหลาน..และมิ่งมิตร ณ ยามชรา..มันคือสัมพันธภาพ ที่ยิ่งนับวันก็ยิ่งจะรู้ถึงความซาบซึ้งทางจิตวิญญาณที่ยากจะหาใดเปรียบได้..
ในสถานะของความเป็นมนุษย์..แต่ละวันเราอาจต่างมีภารกิจที่จะต้องกระทำ โดยจมปลักอยู่กับหลุมบ่ออันครัดเคร่งของกฎเกณฑ์สารพัด..จนมิอาจหายใจได้อย่างรื่นรมย์..เหตุนี้..มันจึงทำให้เราต้องลืมเลือนความคลี่คลายแห่งกายใจของตัวตนไปเสียสิ้น..
..แต่ด้วยสัญชาตญาณของแมวแต่ละตัว พวกเขาคือหน้าต่างของการเรียนรู้หัวใจต่อหัวใจ ในสายตาของความสัตย์ซื่อ และ ในอุปนิสัยที่ปราดเปรียว ...
หากจะเข้าใจและเรียนรู้วิถีแห่งวิสัยของแมวอันเป็นที่สุดแล้ว ก็ต้องทำใจให้บางเบา..ปล่อยใจให้ปลอดพ้นจากความเคร่งครัด..แล้วลองสมมติว่า.. “ตัวเองเป็นแมว..” ..และจากนั้น..จงนอนเกลือกกลิ้งกับมันและ..อย่างมันบ้างก็ได้...!”
ผลงานที่ลึกซึ้งและน่ารัก ในความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมผัสสะที่อบอุ่น..ผลงานเขียนของ “ชุกุนามิ อากิระ” (Shukunami Akira) สัตวแพทย์ชาวญี่ปุ่นผู้เลี้ยงแมวมากกว่า 20 ตัว..ที่จะนำเข้าสู่บริบทของการคิดแบบ “แมว” ที่คล้ายเหมือนกับหลักคิดของนักจิตวิทยาคนสำคัญของโลกชาว “ออสเตรีย” อัลเฟรด แอดเลอร์ “(Alfred Adler)เจ้าของทฤษฎี” Individual Psychology “ผู้ยืนยันถึงว่า..” ตัวตนและแรงจูงใจของเราไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากความสัมพันธ์กับผู้คน และประสบการณ์ที่ได้พบเจอ รวมทั้ง..สังคมโดยรวมรอบข้าง.. “เขาเป็นนักจิตวิทยา..ที่เห็นความสำคัญ และ เน้นย้ำถึงอิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรมที่มีการหล่อหลอมพฤติกรรมและบุคลิกภาพของบุคคล ทั้งชนิดที่ปกติและผิดปกติ..”
แนวคิดเชิงจิตวิทยาของ “แอดเลอร์” จะมุ่งเน้นการใช้ชีวิตโดยลำพัง..เป็นตัวของตัวเอง เพื่อที่จะมีความสุขได้ง่ายขึ้น และมากยิ่งขึ้น..ซึ่งก็คล้ายเหมือนกับลักษณะชีวิตของแมว ที่คนเราสามารถสังเกตเห็นและนำมาประยุกต์ใช้กับ วิสัยแห่งการใช้ชีวิตของเราได้..
“เราช่างห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ คนอย่างเราคงใช้ไม่ได้ พอคิดได้อย่างแล้วจะทำอะไรก็กลัวไปหมด..” ประเด็นนี้..ถูกเตือนสติว่า..อย่าใช้ความสมบูรณ์แบบมาอ้างที่จะทำหรือไม่กระทำ เเต่จงลงมือทำในเรื่องที่ทำได้ก่อนดีกว่า..
“ถึงจะมีข้อบกพร่อง แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นแผลฉกรรจ์ของชีวิต ก็ไม่เป็นอะไรหรอก การทดลองทำสิ่งใหม่ๆเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และการกล่าวชมเชยตัวเอง ในการท้าทายสิ่งใหม่ๆ ..คือสิ่งที่ควรค่าที่สุด..”
อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งให้ข้อคิดอย่างชวนพินิจพิเคราะห์อย่างแนบเนาแท้จริงก็คือการเตือนสติว่า..อย่ารู้สึกกังวลใจอย่างเลื่อนลอยต่ออนาคต ทั้งปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ หรือ บาดแผลใดๆ..ดังนั้น การอยู่กับความกังวลใจที่เลื่อนลอย อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องก็ได้. ..เหตุนี้เวลาที่ครุ่นคิดถึงปมปัญหาต่างๆที่ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง การหันไปเผชิญหน้าว่าอีกฝ่ายให้ความสำคัญกับอะไร? จะได้ผลดีเป็นพิเศษ..ขอให้ฝึกจิตเรื่องความเคารพ..
“แอดเลอร์” ได้ย้ำเตือนเอาไว้ว่า.. “เราควรจะต้องหัดมองอีกฝ่าย ตามความจริง..เสมอ!!”
* ความเข้าใจไปเอง..อาจทำให้เราเกิดความหยุดชะงักได้ เหตุนี้..การคิดไปเอง หรือรู้สึกไปเองว่า กำลังมีคนเกลียด จึงเป็นการคำนึงถึงคนอื่นมากเกินไปบ้าง..ลองฝืนตัวเองเพื่อทำตามใจอีกฝ่ายจนเกินไปบ้าง เพราะจริงๆเราก็อยากทำใจให้สบายกว่าที่เป็นอยู่นี้..เหตุนี้..จึงว่ากันว่า..แปดสิบเปอร์เซ็นต์ ของความกลัดกลุ้มใจ ตกอยู่กับเรื่องของความสัมพันธ์กับผู้อื่น..
ดังนั้น การกลุ้มใจในเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงเป็นเรื่อง ธรรมดามาก.. “ก่อนอื่นแค่รู้เอาไว้ว่า ทุกคนก็กลุ้มเหมือนกัน” ..แล้วลองเลียนแบบชีวิตของแมวดู.... ซึ่งแม้จะมีอิสระมาก สามารถตามใจตัวเอง ทำตัวสบายๆไม่เเคร์ใคร แต่ก็ยังเป็นที่รัก..!
ในประเด็นที่คน ณ วันนี้ชอบคิดไปเองเสียทุกอย่าง..เราก็จะได้ข้อคิดที่ควรคิดว่า...หากสมมติว่าเราเป็นแมว..เราจะทำอะไรเวลาอยู่คนเดียว/ออกไปตากแดด นอนตากลม เดินเล่นเรื่อยเปื่อย ไปทักทายแมวข้างบ้าน “ลองนอนกลิ้ง แล้วคิดดูว่า..ถ้ามีเวลาที่ได้อยู่คนเดียว เพิ่มขึ้นอีกนิดจะทำอะไร...เวลาคิดแบบนี้แล้ว..รู้สึกสบายขึ้นบ้างไหม?” และ..สำหรับคนที่ชอบคิดลบไปเสียทุกเรื่อง ทุกอย่าง คำพูดติดปากที่ซ้ำๆ หรือ การเน้นย้ำกับตัวเอง จะช่วยเปลี่ยนแปลงทั้งกิจวัตรและนิสัยได้..
“ขอให้พูดถ้อยคำที่สร้างกำลังใจให้ตัวเองซ้ำๆต่อหน้ากระจกเงา/เพียงมีเวลาแค่ห้านาทีก็ทำได้แล้ว เพียงเท่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้..”
*คนเราต่างรู้สึกหงุดหงิดในโลกปัจจุบัน...เรารู้สึกหงุดหงิด เวลาที่เราอยากร่วมมือกันทำอะไรสักอย่าง แต่ทุกคนกลับนึกถึงผลประโยชน์ส่วนตัว..ว่ากันว่า “ขอให้ไปถึงเส้นชัยโดยเรียบร้อย จะใช้หรือจะไปโดยเส้นทางไหนก็ไม่เป็นไร...”
ดังนั้น..จงพยายามอย่ายอมรับกฎของกลุ่มหรือบริษัท หรือสิ่งที่คนอื่นทำๆกันไปเสียทุกเรื่อง แต่ต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกและความคิดของตัวเองด้วย..หลายๆเรื่องก็ราบรื่นได้.. “เพราะมีคนหลากหลายประเภท”
สุดท้าย..จงอย่าคิดไปว่า .ตัวเรานั้นห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ หรือหมิ่นแคลนตนเองว่า “คนอย่างเรา คงใช้ไม่ได้.. “เพราะเมื่อคิดเช่นนั้นแล้ว จะทำอะไรก็กลัวไปหมด”..เอาความสมบูรณ์แบบ มาใช้เป็นข้ออ้าง ที่จะไม่ทำอะไรอยู่หรือเปล่า..จงลงมือทำในสิ่งที่ทำได้ก่อนดีกว่า...”
เพราะถึง..จะมีข้อบกพร่องอยู่สักหน่อย แต่ถ้าไม่ได้เป็นแผลฉกรรจ์ถึงชีวิต ก็ไม่เป็นไรหรอก/..การทดลองทำสิ่งใหม่ๆนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า.. “การกล่าวชมตัวเอง ที่ท้าทายทำสิ่งใหม่ๆได้ดี..คือสิ่งที่มีค่าที่สุด..!”
วิถีแห่งนัยของ “แมว” ในห้าวิถีเปรียบเทียบกับกลไกแห่งชีวิตของผู้คนที่ได้กล่าวมาทั้งหมด..สามารถสะท้อนให้เห็นถึงอาการและความหมายที่ซ่อนอยู่..ว่าในความเป็นชีวิตของแมวนั้นมีรูปรอยสำคัญอะไรเร้นแฝงอยู่/.. “แมวมักจะเชื่อมโยงอยู่กับความอ่อนแอ”/แมวมักจะเพลิดเพลินกับการอยู่คนเดียว/ “แมวจะทำอะไรตามใจชอบ”/ “แมวชอบเน้นย้ำกับตัวเอง”/และ..แมว..จะรู้สึกไม่สบายใจและไร้เกียรติ..เมื่อต้องเจอกับคำตอบที่ไม่ถูกต้องและไม่สบายใจ
ตัวอย่างแห่งปฏิกิริยาทั้งหมดนี้ของแมวคือกระจกสะท้อนอันส่องสว่างต่อชีวิตของสัตว์เลี้ยงผู้ชิดใกล้ คลอเคลียรักใคร่ ครอบคลุมความเป็นชีวิตของ “เจ้าของคนเลี้ยงดู” จนประหนึ่งเป็นเจ้านายผู้ครัดเคร่ง ไปโดยปริยาย..! “อากิระ”..แบ่งบทตอนการเขียนของเขาออกเป็นบทตอนต่างๆที่น่าสนใจ โดยเริ่มจาก..
*เทคนิคการใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความ “สบายใจ” โดยใช้เวลาสบายๆ..ดั่งแมวที่เพลินเพลินอยู่กับการอยู่คนเดียว...เช่นเดียวกับว่าแมวทุกๆตัวชอบทำอะไรตามอำเภอใจ..เพราะฉันนั้น..การเข้าใจตัวเองและการสร้างความกล้าหาญจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง ..
*ในส่วนของเทคนิคการคบค้ากับคนอื่น..หากดูตามอุปนิสัยของแมวแล้ว..พวกเขาจะไม่ปิดบังความเกลียดชังใดๆเลย..
*หากมีการคิดกันว่า..ชีวิตต้องทำอย่างไรดี..ถึงจะสนุกกับปัจจุบัน..คำตอบที่ได้ก็คือ..อย่าเชื่อสามัญสำนึกของตนจนมากเกินไป..เพราะหากสังเกตและเฝ้ามองจากแมวแล้ว..ก็จะประจักษ์ได้ว่า.. “แมวไม่ได้ต้องการอะไรเหมือนๆกัน..”
*ครั้นเมื่อเราต้องทำอะไรเพื่อคนอื่น..กับความพอใจส่วนตัว..ก็ขอได้โปรดตระหนักและรับรู้ไว้ว่า แท้จริงแล้ว “จงจริงใจต่อความรู้สึกของตัวเองเหมือนดั่งแมว ทั้งนี้ก็เพราะ.. “แมวเอาแต่ใจตนเอง”..
*อย่าพยามมากเกินไปในทุกๆวัน..ต้องพยายามเป็นอิสระจากการถูกเร่งรัดจนฝืดฝืน.. “ใจจริงของแมวมีอะไรที่ผิดคาดอยู่มากมายนัก” แม้แต่คำชื่นชมและความคาดหวัง
*ครั้นเมื่อมนุษย์..ถือเอาเรื่องของ “ประสิทธิภาพ” เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก..แต่ในทางกลับกัน “บรรดาเหล่าแมวกลับมีวิธีเพลิดเพลิน โดยการแวะข้างทาง..และใช้ชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติเสมอ”..ดังนั้นคนเราจึงควรพักผ่อนให้เป็น ..
*ที่สำคัญที่สุด..มนุษย์เราควรที่จะต้อง เผชิญหน้ากับความกังวลต่ออนาคตกันเถอะ.. “ขออย่าได้กลัวความผิดพลาด” ...แมวทุกตัวนั้น..จะมองไปที่อนาคตเพราะ “อนาคตคือการเริ่มต้นของปัจุบัน”..เหตุนี้แมวจึงตัดสินที่จะแพ้ชนะกันที่ “แรงออกตัวระยะสั้น” และ..เมื่อไหร่ก็ตาม..ที่แมวได้เจอกับคำเตือนที่ไม่ถูกต้อง ...แล้วพวกเขารู้สึกไม่สบายใจ .นั่นย่อมถือว่า.. “มันเป็นเกียรติและความรักของบรรดาหมู่แมวทั้งหลาย!”..
กล่าวโดยสรุป..นี่คือหนังสือแห่งคุณค่าของการเรียนรู้ในการมีชีวิตอยู่ร่วมกันของ มนุษย์กับสัตว์ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติของการหยั่งรู้ ..เมื่อต่างได้สัมผัสกับผัสสะแห่งชีวิตของกันและกัน ..ความเป็นรากเหง้าของชีวิตจึงค่อยไปอุบัติขึ้นเป็นความงามของความรัก เป็นการหยั่งลึกในความเข้าใจ และเป็นกลไกพิเศษที่ทั้งลึกล้ำและลึกลับของการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน..
“จิตวิทยาสายเหมียว” ..สื่อสาระให้เราในฐานะผู้อ่านได้วิพากษ์วิจารณ์ ได้พินิจพิเคราะห์..และได้จดจำเป็นความทรงจำไว้หลายข้อคิด ในหลากหลายมิติ...อาทิ.. “มีแต่คนที่เพลิดเพลินอยู่กับ การอยู่คนเดียวเท่านั้น ที่จะเพลิดเพลินอยู่กับคนเยอะไปได้..เพราะฉะนั้น จงอย่าลืมให้ความสำคัญ กับห้วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองคนเดียว..ให้มาก”
นอกจากนี้..ขอให้เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า .การเฝ้ามองอยู่ห่างๆแบบแมวก็เป็นความรักอย่างสมบูรณ์แบบได้เช่นกัน ..จงอย่าเชื่อสามัญสำนึกของตนมากจนเกินไป..และที่ต้องระวังที่สุด ก็คือการไม่พยายามเปลี่ยนแปลงคนอื่น..และ ..หากชีวิตต้องการจะหาคุณค่าที่สำคัญของชีวิต..ก็จงทดลองทำสิ่งใหม่ๆแบบแมว รวมทั้งการกล้าที่จะกล่าวชมเชยตัวเอง ที่สามารถทำสิ่งใหม่ๆได้..ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ คือสิ่งที่ควรกระทำ..
ที่เด่นชัดที่สุด...แมวจะรักษาอาณาเขตของตัวเราเองได้ดี..เหตุนี้คนเราก็ต้องรักษาอาณาเขตของตัวเองให้ดีเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อจะรักษาระยะห่างเท่าที่ใจปรารถนา..เพื่อความสบายใจในการดำรงอยู่ของชีวิต..
นี่คือ “ภาพรวม” ของหนังสือ ที่สานสอดความกรุณาเอาไว้..ทั้งต่อตัวตัวตน และ โครงสร้างอันมีความหมายของชีวิต..ผ่านสัญชาตญาณแห่งความเป็นตัวตนของ"แมว"สัตว์น่ารักและแสนรอบรู้เหนือจิตวิญญาณสามัญของมนุษย์..
“เมธี ธรรมพิภพ” แปล และ ถอดความหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างอ่อนโยนและเข้าใจ..มันคือการถ่ายทอดเหนือวิถีแห่ง การตระหนักรู้และจดจำ..ดั่งที่ “ซุกุนามิ อากิระ” ได้สรรค์สร้างและบอกกล่าวข้อคิดอันมีคุณค่าไว้...ขอจงมองความผิดพลาดในอดีต เป็นบาดแผลในจิตใจ..เราไม่อาจสามารถเปลี่ยนอดีต หรือ เปลี่ยนชีวิตได้..แต่เราสามารถเปลี่ยนมุมมอง ต่อเหตุการณ์ในอดีตได้..
ชีวิต..จะมีความสุขหรือไม่นั้น..จิตใจเราเป็นผู้กำหนด..! และที่สำคัญที่สุดในชีวิตนั้น..ก็คือ..ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า.. “สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้นั้น..ไม่ใช่การไปกังวลกับอนาคต..แต่คือการต้องให้ความสำคัญกับวินาที...ต่างหาก!”