Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.66 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.52-35.66 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้นของราคาทองคำ (XAUUSD) อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลุดโซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ หลัง บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จนเกือบแตะระดับ 4.00% โดยภาพดังกล่าวได้หนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็พลิกกลับมาปรับตัวลดลงกลับสู่โซนแนวรับ 2,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันค่าเงินบาท
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันจากแรงขายหุ้นในธีม AI/Semiconductor นำโดย Nvidia -5.1% ซึ่งอาจมาจากทั้งการทยอยลดความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ในส่วนของการลงทุนที่เป็น Crowded Trades (หุ้นธีม AI/Semiconductor) และแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จนเกือบแตะระดับ 4.00% ขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นๆ ทยอยปรับตัวขึ้นกันได้บ้าง อาทิ กลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ลดลง -1.05% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.77%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พุ่งขึ้นกว่า +1.54% หลังผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปถูกกดดันอยู่บ้าง หลังหุ้นบริษัทยายักษ์ใหญ่ อย่าง Novo Nordisk ดิ่งลง -6.7% จากรายงานผลประกอบการที่แย่กว่าคาด และยอดขายยาลดน้ำหนักยอดฮิต อย่าง Wegovy ก็ออกมาน่าผิดหวัง
ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นชัดเจนในฝั่งสหรัฐฯ ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึง ผลการประมูลบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่มีความต้องการลดลงจากช่วงก่อนหน้า ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนเกือบแตะระดับ 4.00% ซึ่งเป็นโซนแนวต้านระยะสั้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก่อนที่จะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงบ้างกลับสู่ระดับ 3.90% ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้น หากผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มเติม โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดมีโอกาส 72% ที่จะลดดอกเบี้ยถึง 50bps ในการประชุมเดือนกันยายน ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยลดความคาดหวังเพิ่มเติมได้ไม่ยาก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าไม่ได้แย่ลงต่อเนื่องไปมาก ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจสามารถปรับตัวขึ้นทดสอบหรือเหนือกว่าโซนแนวต้าน 4.00% ได้ ทั้งนี้ เราคงแนะนำใช้กลยุทธ์ Buy on Dip รอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ ตามเดิม
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ที่ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป ก่อนที่เงินดอลลาร์จะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงภาพตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังคงผันผวนและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 103.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103-103.3 จุด) อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนจากการทยอย Unwind JPY-Carry Trade หลังเงินเยนมีจังหวะอ่อนค่าลงเหนือโซน 147 เยนต่อดอลลาร์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะ Short JPY หรือ Unwind JPY-Carry Trade หนุนให้เงินเยนสามารถแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซน 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอขายทำกำไรทองคำในโซนดังกล่าว ทำให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวลดลง สู่โซน 2,420 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด (Thomas Barkin ซึ่งจะรับรู้ในช่วงราว 02.00 น. ของวันศุกร์ ตามเวลาประเทศไทย) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.50% จนกว่าจะมั่นใจว่า ทาง RBI จะสามารถคุมสถานการณ์เงินเฟ้อได้อย่างแน่นอน (ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของอินเดียยังคงสูงกว่าเป้าหมายพอสมควร) และค่าเงินรูปี (INR) มีเสถียรภาพมากขึ้น
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ในช่วงนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นมีกำลังมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากในวันก่อนหน้าที่เงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.65 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้ โดยเฉพาะในช่วงหลังตลาดรับรู้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคก้าวไกล (มติเอกฉันท์ ให้ยุบพรรคก้าวไกล) ทำให้เราประเมินว่า ในเชิงเทคนิคัลนั้น สำหรับ Time Frame Daily ค่าเงินบาท (USDTHB) อาจเกิดรูปแบบ Bullish Reversal Pattern สะท้อนโอกาสที่จะทยอยผันผวนอ่อนค่าลงได้ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง (Sell on Rally) นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนจากการทยอย Unwind JPY Carry Trade หรือ สถานะ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) เพิ่มเติม หลังเงินเยนญี่ปุ่นได้ผันผวนอ่อนค่าลงเกือบแตะระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์ ตามถ้อยแถลงของทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่สะท้อนว่า BOJ จะระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น โดยแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากความปั่นป่วนในตลาดการเงิน ได้ส่งผลกระทบต่อคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงและโอกาสที่ BOJ จะบรรลุคาดการณ์ดังกล่าว โดยในช่วงเช้านี้ เราเห็นการทยอยลดสถานะ Short JPY หรือ Unwind JPY Carry Trade ของผู้เล่นในตลาดเพิ่มเติม ส่งผลให้ เงินเยนญี่ปุ่นทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นต่ำกว่าโซน 146 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง กดดันให้เงินดอลลาร์ผันผวนอ่อนค่าลง ดังนั้น ความผันผวนของค่าเงินเยนในช่วงนี้ ก็อาจส่งผลกระทบมายังค่าเงินบาทได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ แม้เงินบาทอาจมีจังหวะแข็งค่าขึ้นได้บ้างจากปัจจัยข้างต้น ทว่า การแข็งค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดเช่นกัน โดยเบื้องต้น เราคงประเมินโซนแนวรับเงินบาทแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ และหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้จริง สวนทางกับที่เราประเมินไว้ ก็อาจแข็งค่าทดสอบโซน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้
โดยเราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.70 บาท/ดอลลาร์
#ข่าววันนี้ #ค่าเงินบาท #ตลาดทุน #อัตราแลกเปลี่ยน