เมื่อวันที่ 6 ส.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกษตรอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร พร้อมอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านร่วม ลงพื้นที่สำรวจ ติดตาม สถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลัง ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเลิงนกทาเพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโลกใบด่างของมันสำปะหลังในครั้งนี้และโรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นโรคที่สำคัญสร้างความเสียหายให้กับเกษตรสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virus ; CMV และมีการแพร่ระบาดโดยการนำท่อนพันธุ์จากต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคไปปลูก และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบ นำเชื้อจากต้นที่เป็นโรคไปสู่ต้นปกติ อาการของมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างจะมีอาการใบด่าง เหลือง ใบเสียรูปทรง ลดรูป และยอดที่แตกใหม่แสดงอาการด่างเหลือง อาการเหล่านี้ทำให้การสังเคราะห์แสงลดลงเป็นเหตุให้ ผลผลิตลดลง

และในกรณีติดโรคจากท่อนพันธุ์ พบอาการตั้งแต่มันสำปะหลังอายุน้อยทำให้มันสำปะหลังไม่สร้างหัวหรือหัวลีบเล็ก หากระบาดรุนแรงผลผลิตลดลง 80-100% และกรณีติดโรคจากแมลงหวี่ขาวยาสูบ พบอาการต้นมันสำปะหลังอายุมาก ผลผลิตลดลงประมาณ 10-40 %เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ โดยมันสำปะหลังอายุน้อยต้นไม่สูงมาก ให้เดิน 1 แถว เว้น 5 แถว แบบตัวยู สังเกตใบบริเวณส่วนยอดและแมลงหวี่ขาวยาสูบในกรณีอายุมากต้นสูง ให้เดิน 1 แถว เว้น 3 แถว

หากพบต้นมันสำปะหลังเป็นโรคให้ทำลายทันทีโดยการถอนทิ้งลงในถุงดำมัดปากตากแดดทิ้งไว้ไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย เพื่อป้องกันการระบาดขยายวงกว้างมากขึ้นและ เมื่อการทำลายผ่านไป 28 วัน ตรวจสอบแล้วไม่พบต้นเป็นโรคอีก ถือว่าไม่เป็นพื้นที่พบการระบาดและในพื้นที่อำเภอเลิงนกทาจังหวัดยโสธรมีเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 2,348 ราย พื้นที่ปลูก 28,417 ไร่