"แบงก์ชาติ" จับมือ 8 แบงก์หนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เหมาะกับบริบทไทย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน "Financing the Transition: การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ" ว่า ภาคการเงินได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อการปรับตัวร่วมกับภาคธุรกิจ ผ่านการร่วมมือกันผลักดันและสนับสนุนเงินทุนให้กับภาคธุรกิจไทย เพื่อช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ธุรกิจสีเขียวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งภาคการเงินจะเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจไทย

ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจในหลายประเทศส่วนใหญ่ ล้วนมุ่งไปที่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon netraul) และการเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ที่มีการขยายตัวขึ้นของหลายธุรกิจในหลากหลายประเทศที่ปรับตัว โดยภาคธุรกิจในประเทศไทยที่สามารถปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจได้แล้ว ยังเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้าไปอยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Index (DJSI) จำนวน 26 บริษัท ซึ่งนับว่ามากที่สุดในอาเซียน ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กของไทย ยังมีความพร้อมในการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่

"หากพิจารณาบริบทของเศรษฐกิจประเทศไทย เรายังใช้เชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงอยู่ และความพร้อมของ SME ในการเปลี่ยนผ่าน ก็ยังไม่พร้อมปรับตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของธุรกิจ ทำให้ต้องมีการสนับสนุนของภาคการเงินเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่าน" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยถือว่ามีหลากหลายมิติ แต่ในภาพหลักของเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นเศรษฐกิจในโลกเก่า (Brown) ทั้งการผลิต และการส่งออก ขณะที่ธุรกิจ SME ที่เน้นด้านสิ่งแวดล้อม และความเป็นธุรกิจสีเขียว (Green) ยังมีน้อย แต่ ธปท.ไม่อยากเห็นการเพิกเฉยต่อการสนับสนุนเงินทุนกับธุรกิจแบบ Brown ของภาคการเงินไปอย่างสิ้นเชิง แต่ควรเป็นรูปแบบการช่วยเหลือและสนับสนุนเงินทุน เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Green ถือเป็นบริบทที่เหมาะสมกับภาคการเงิน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจไทย

"การที่ละทิ้งไม่ให้เงินทุนต่อธุรกิจ Brown ไปเลย คงไม่เหมาะกับบริบทไทย โจทย์ของต่างประเทศไม่จำเป็น และไม่ Need กับเศรษฐกิจไทยมาก แต่เราควรเป็นการสนับสนุนการสร้างการเปลี่ยนผ่าน Transition ไปสู่ less brown จะดีที่สุด" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทย และภาคธุรกิจของไทยที่เป็นธุรกิจแบบ Brown สู่การเป็นธุรกิจ Less Brown จะต้องคำนึงถึงจังหวะเวลา เพื่อสร้างความสมดุล และผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบเชิงลบที่จะตามมาในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน โดยมองว่าจะต้องเป็นการเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ไม่ได้เป็นการยิงพลุในการทำ CSR แต่เป็นการคาดหวังในการขยายผลที่เป็นวงกว้างได้ ทั้งนี้ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ธปท. และ 8 ธนาคารพาณิชย์ ได้ร่วมกันวางแผนการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ให้ตอบโจทย์การทำธุรกิจและสิ่งแวดล้อม โดยหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ปรับตัวอย่างจริงจัง และเปลี่ยนผ่านสู่การสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และขยายวงกว้างต่อไปได้

"การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อการปรับตัวจากธุรกิจที่ยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (จาก brown สู่ less brown) หรือ Financing the Transition จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศ ซึ่งอาจต้องเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถขยายผลในวงกว้างได้" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึง เส้นทางการขับเคลื่อนภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนของ ธปท. ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ว่า เริ่มจาก 1.การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของภาคธนาคารในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking)

2.การกำหนดทิศทางภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสื่อสารความคาดหวังให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินโอกาส และความเสี่ยงจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนลูกค้าให้ปรับตัว เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

3.การวางรากฐานสำหรับระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การออกแนวนโยบายของ ธปท. เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งกระบวนการ และจัดทำ Thailand Taxonomy

โดยจากกระบวนการขับเคลื่อนข้างต้น จึงนำมาสู่ความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อออกผลิตภัณฑ์สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมที่เหมาะกับบริบทไทย ผ่านโครงการ Financing the Transition ซึ่งภายในงาน ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 8 แห่ง ได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารแต่ละแห่งสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ และยังมีกิจกรรมเพื่อให้ความรู้และคำปรึกษาในการปรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทย อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมการเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรม

"ธปท.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และช่วยจุดประกายให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดนำไปสู่ความร่วมมือในวงกว้าง เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนต่อไป" นายรณดล กล่าว

#ธปท #เศรษฐกิจสีเขียว #ข่าววันนี้ #สินเชื่อ