วันที่ 7 ส.ค.2567 เวลา 10.50 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มาตรา287 ของนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้นายเท่าพิภพ ชี้แจงเนื้อหาสาระว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว เสนอให้การแจกจ่ายหรือแสดงแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งเป็นภาพเขียน ภาพพิมพ์ สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ สิ่งอื่นใดอันลามก ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือที่เป็นการใช้ความรุนแรง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากกฎหมายปัจจุบันที่ห้ามกระทำทั้งหมดไม่ว่าจะเกี่ยวกับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีหรือไม่ก็ตาม
จากนั้นได้เปิดให้สส.ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่สส.พรรคก้าวไกลสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเห็นว่าการห้ามไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเห็นว่าของเล่นผู้ใหญ่ เซ็กทอย มีข้อดี ช่วยอาชญากรรมทางเพศ ลดความเครียด และแก้ปัญหาชีวิตครอบครัวได้
ส่วนนายสรพัช ศรีปราชญ์ สส.สระบุรี พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การกำหนดกฎหมายแบบที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในโลกแห่งการไม่ยอมรับความจริง เมื่อเราอยู่ในประเทศหน้าไหว้หลังหลอก มือถือสากปากถือศีล ไม่ยอมรับความจริง โดยเอาคำว่าศีลธรรมจริยธรรมเป็นเสื้อคลุมกายทำให้เรากลายเป็นคนดีขึ้นมาทันที และเป็นข้ออ้างที่ทำให้เซ็กทอยผิดกฎหมาย และเป็นกำลังทำลายความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มีความรู้สึกทางกามอารมณ์ที่ต้องการใช้งาน แต่เราผลักใสให้เขาไปหาสิ่งอื่นๆทดแทน เมื่อต้องการปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศ หากเป็นคนไม่มีจิตสำนึกก็จะนำไปสู่การข่มขืน
ขณะที่นายภัณฑิล น่วมเจิม สส.กทม. กล่าวว่า การแก้กฎหมายให้ผู้ผลิตสื่อทางเพศ ไม่ถือว่าเป็นผู้ทำผิดกฎหมายหรือส่งผลเสียต่อสังคม เนื่องจากเราไม่ได้เยาวชนเข้ามา และได้กำหนดให้ผู้ผลิตมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ถือว่ามีวุฒิภาวะ และไม่เรียกว่ามอมเมาประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ผลิตและผู้รับสื่อมีอยู่ทั่วไปอยู่ตลอด จะไม่ดีกว่าหรือที่เราจะเรียกรับผลประโยชน์ ทำให้ขึ้นมาอยู่บนดินแล้วดูแลควบคุม ให้เสรีภาพแก่ผู้ผลิตสื่อซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล จะใช้ร่างกายเลี้ยงชีพไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ส่วนเซ็กทอยขณะนี้มีอยู่แล้ว ทำไมไม่ควบคุมออกกฎหมาย เพื่อดูแลมาตรฐาน
ส่วนสส.รัฐบาลอภิปรายไม่เห็นด้วย โดยนายดวงฤทธิ์ เบญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่าไม่ได้มีอคติ แต่เห็นว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี หากมีการแก้ไขในเรื่องนี้ ปัญหาครอบครัว ผลของการกระทำ เราอาจเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในอนาคตเสี่ยงเกิดปัญหาภายในครอบครัว และเกิดการคุมคามทางเพศมากขึ้น และยังก่อให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ ว่าการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องปกติ และอาจมีผลต่อการค้ามนุษย์ข่มขืนใจ ที่สำคัญจะมีปัญหาด้านสาธารณสุข ในแง่ของโรคติดต่อตามมา
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สาระสำคัญของการขอแก้ไขครั้งนี้ คือถ้าเป็นสื่อลามกที่เกี่ยวข้องกับคนอายุต่ำกว่า20ปี หรือใช้ความรุนแรง ให้มีความผิด ตนเห็นว่าฟังแล้วดูเหมือนจะดี แต่เจตนาของมาตรา287 ต้องการคุ้มครองประชาชน ผู้อภิปรายพูดแต่เรื่องศีลธรรม แต่เราก็ต้องทำเหมือนเดิม เพราะในสังคมมีความหลากหลายมาก โดยเฉพาะการโฆษณาให้เห็นอวัยวะเพศ ภาพโป๊เปลือย หรือกิจกรรมทางเพศ บางคนมองมากกว่าเป็นศิลปะ และจะทำให้เกิดปัญหาล่วงล้ำสิทธิคนอื่น
นพ.เชิดชัย กล่าวต่อว่า การมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ความจริงก็ต้องมีบ้างเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งรัฐต้องมีมาตรการทางกฎหมายออกมาเพื่อคุ้มครอง ในการเข้าถึงสื่อลามกก็ต้องมีการป้องปราม ที่สำคัญปัจจุบันเรายังไม่ได้มีกฎหมายว่าด้วยการให้บริการทางการเพศ ซึ่งน่าห่วงใย ถ้าให้มีสื่อลามกเผยแพร่ออกไป เพราะฉะนั้นตนจึงไม่สนับสนุน
นพ.เชิดชัย กล่าวด้วยว่า เซ็กทอยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นวัตถุช่วยเหลือทางเพศ เป็นการผ่อนคลายอารมณ์ อาจใช้กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ มีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ควรพูดให้ชัดเจน อาจมีประโยชน์ช่วยให้คู่ชีวิตดีขึ้น ลดการข่มขืน ลดความเครียด ประเด็นนี้ต้องทำให้ถูกกฎหมาย และเป็นคนละเรื่องกับมาตรการป้องกันสื่อลามก เซ็กทอยน่าจะเสนอเป็นกฎหมายเฉพาะ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้คุลมเครือไม่ชัดเจน เกิดปัญหามากกว่าข้อดี อยากให้ผู้เสนอนำไปร่างใหม่เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเซ็กทอย
เมื่ออภิปรายครบหมดแล้ว ต่อมาเวลา 13.25 น. ที่ประชุมได้ลงมติ ปรากฏว่า ไม่เห็นด้วย 284 ต่อ 145 เสียง ทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ผ่าน และถูกตีตกไป