ศุลกากรเร่งป้องกันและปราบปรามจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและของที่เป็นอันตรายต่อสังคมมูลค่ากว่า 46.71 ล้านบาท
วันนี้ (7 ส.ค.67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายสุรชาติ เทียนทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี นางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) นายพีรพงศ์ รำพึงจิตต์ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการข่าวและปราบปรามยาเสพติด 6 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ Superintendent Michael CYMBALISTA (ไมเคิล ซิมบาลิสต้า) Counsellor – Mekong Region Australian Embassy, Bangkok ร่วมแถลงข่าว “ศุลกากรเร่งป้องกันและปราบปรามจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและของที่เป็นอันตรายต่อสังคมมูลค่ากว่า 46.71 ล้านบาท”
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตั้งแต่รัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีความกังวลมาตั้งแต่ต้นกับการเข้ามาของสินค้าราคาต่ำ และสินค้าไม่ได้คุณภาพ จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการหามาตรการเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าที่มีราคาต่อหีบห่อ ต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากร นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ดำเนินมาตรการชั่วคราวระหว่างรอกรมสรรพากรแก้กฎหมาย เพื่อดำเนินการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าที่มีราคาต่อหีบห่อน้อยกว่า 1,500 บาท โดยมีผลเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าที่ตั้งอยู่ในประเทศ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี และท่านพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้สั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขัน กับการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
โดยที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ขอหมายศาลเข้าตรวจค้นจับกุมสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโกดังที่เก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก และยังมีการเพิ่มอัตราสุ่มเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากรก่อนได้รับการอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม อีกทั้งยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการป้องกันและปราบปรามสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นภัยต่อสังคม เช่น ยาเสพติด บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) โดยสั่งการให้บูรณาการด้านการข่าวร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกรมศุลกากรได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง โดยในวันนี้มีผลงานการป้องกันและปราบปรามสินค้าเถื่อน ผิดกฎหมายที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. ด้านการปราบปรามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและสินค้าอื่นๆ
1.1 สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้เข้าตรวจค้นโกดังแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ผลการตรวจค้นพบสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์แต่งรถยนต์ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และไม่พบเอกสารหลักฐานผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 14,944 ชิ้น มูลค่ากว่า 1.8 ล้านบาท กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และในวันที่ 5 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ศุลกากรกองสืบสวนและปราบปรามได้รับการข่าวว่าจะมีการขนสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) บริเวณถนนบางนาตราด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จึงได้เฝ้าระวังจนกระทั่งพบรถกระบะตู้ทึบต้องสงสัยจำนวน 2 คัน และได้ทำการตรวจค้น พบสินค้าประเภทหลอดไฟแอลอีดี หม้อไฟฟ้าอเนกประสงค์ และพัดลมตั้งพื้น จำนวน 1,260 ชิ้น มูลค่า 1 ล้านบาท กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้ทำการอายัดสินค้า ณ ท่า/ที่ที่นำเข้าเพื่อรอผลการพิจารณาอนุญาตจาก สมอ.เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากสินค้าที่อายัดไว้นั้นไม่ได้คุณภาพตามที่ สมอ. กำหนด ก็จะสั่งให้ทำการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางตามแนวทางที่ สมอ. กำหนดต่อไป สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 6 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั้งสิ้น 25 คดี จำนวน 231,971 ชิ้น และ 50,578 กิโลกรัม มูลค่ารวม 66.55 ล้านบาท
1.2 เศษพลาสติก
เมื่อวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปรามได้ทำการตรวจค้นรถบรรทุกพ่วง จำนวน 3 คัน บริเวณพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา พบเศษพลาสติกจำนวน 60,000 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เบื้องต้นไม่มีเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดง จึงได้ทำการยึดของดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมสินค้าเศษพลาสติก ทั้งสิ้น 3 คดี ปริมาณ 97,136 กิโลกรัม มูลค่ารวม 1.65 ล้านบาท
2.ด้านการป้องกันและปราบปรามสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นภัยต่อสังคมมีผลการดำเนินการ ดังนี้
2.1 ยาเสพติด
กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง โดยบูรณาการด้านการข่าวอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ หน่วยปฏิบัติการ (Airport Interdiction TaskForce : AITF) มาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจพบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ โดยสำแดงชนิดสินค้าเป็น “Chinese Character Hanging” ปลายทางประเทศออสเตรเลีย จากข้อมูลการข่าวพบว่า มีความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร เมื่อเปิดตรวจพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (HEROIN) ลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่น ซุกซ่อนอยู่ภายในป้ายมงคลภาษาจีนแบบแขวน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 1,125 กรัม มูลค่า 3,375,000 บาท การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และตามมาตรา 242 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากร ร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการ AITF ได้ร่วมกันตรวจสอบสินค้าเร่งด่วนขาเข้า นำเข้าทางคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต้นทางประเทศ CHILE สำแดงชนิดสินค้าเป็น “BASKETBALL HOOPS” ผลการตรวจสอบพบ ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน (Cocaine) ลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่น น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 990 กรัม มูลค่า 3 ล้านบาท ซุกซ่อนอยู่ภายในห่วงบาสเกตบอล หน่วยปฏิบัติการ AITF จึงดำเนินการขออนุมัติขอครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม (Control Delivery: CD) เพื่อขยายผลไปยังผู้กระทำผิด จนสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวไทย ซึ่งเป็นผู้มารับของกลางดังกล่าว ซึ่งจากการสอบปากคำเบื้องต้น จึงดำเนินการควบคุมตัวเพื่อสืบสวนขยายผลจับกุมผู้เกี่ยวข้องต่อไป การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานลักลอบนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภท 2 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ตามมาตรา 242 244 และ252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 5 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 119 คดี มูลค่ารวม 955 ล้านบาท
2.2 บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
ในระหว่างวันที่ 1 - 12 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม ได้เข้าตรวจค้นพัสดุในบริษัทขนส่งเอกชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากสงสัยว่ามีของต้องห้ามต้องกำกัดหรือของมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ผลการตรวจค้นพบ บุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 1,802,800 มวน มูลค่า 9,014,000 บาท และบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 10,245 ชิ้น มูลค่า 4,098,000 บาท รวมมูลค่า 13,112,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ได้เข้าตรวจค้นโกดัง ไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 1 ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ผลการตรวจค้นพบ บุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 1,728,000 มวน รวมมูลค่า 8,640,000 บาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศและไม่ปรากฏหลักฐานในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการยึดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 245 246 247 ประกอบกับมาตรา 166 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมบุหรี่ ทั้งสิ้น 1,570 คดี จำนวน 29.6 ล้านมวน มูลค่ารวม 168.40 ล้านบาท สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ ทั้งสิ้น 318 คดี จำนวน 1.06 ล้านชิ้น มูลค่ารวม 85.9 ล้านบาท
2.3 ยาเสตียรอยด์สำหรับฉีดและรับประทานสำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ทำการจับกุมสินค้านำเข้า ประเทศกำเนิด KOREA ต้นทางบรรทุกจาก UNITED ARAB EMIRATES จำนวน 4 Carton น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 117 กิโลกรัม สำแดงชนิดสินค้าเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (PERSONAL EFFECT SUPPLEMENT) ราคา 53,022.20 บาท ผลการตรวจสอบสินค้า ไม่พบสินค้าตามสำแดง แต่ตรวจพบเป็นยาเสตียรอยด์สำหรับฉีดและรับประทานสำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่หมดอายุหรือใกล้จะหมดอายุ จำนวน 3,043 กล่อง มูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท โดยสินค้าดังกล่าว จัดเป็นยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เบื้องต้นผู้นำเข้าไม่มีใบอนุญาตนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามาแสดงในขณะปฏิบัติพิธีการศุลกากร จึงได้ยึดของดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปกรณีนี้เป็นความผิดฐานแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงอากร และนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด ตามมาตรา 202 243 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
2.4 ส่วนประกอบอาวุธปืน
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากรโดยกองสืบสวนและปราบปราม ดำเนินการตรวจสอบสินค้าที่ขนส่งทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 ชิ้ปเม้น ที่ได้อายัดไว้ โดยชิบเม้นแรก ระบุประเทศกำเนิดและต้นทางบรรทุก UNITED STATES จำนวนหีบห่อรวม 5 PK น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มรวม 131.40 กิโลกรัม น้ำหนักสุทธิ 98.5 กิโลกรัม ผู้นำเข้าสำแดงอุปกรณ์สำหรับใช้ในการออกกำลังกาย (SPORTS EQUIPMENT - WORKOUT EQUIPMENT) จำนวน 27 ชุด แต่ไม่มีผู้ใดมาแสดงตนขอรับของ ตรวจพบ เป็นส่วนประกอบอาวุธปืน เช่น ชุดลั่นไก โครงปืน กระบอกเก็บเสียง แม๊กกาซีน และเครื่องกระสุนปืน รวมจำนวน 85 รายการ ประกอบด้วยอะไหล่และส่วนประกอบปืน จำนวน 146 ชิ้น มูลค่า 970,000 บาท ซองกระสุนและอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 90 ชิ้น มูลค่า 280,000 บาท และเครื่องกระสุน จำนวน 81 กล่อง (ประมาณ 1,620 นัด) มูลค่า 120,000 บาท
ชิปเม้นที่สอง ระบุประเทศกำเนิดและต้นทางบรรทุก UNITED STATES จำนวนหีบห่อรวม 4 PK น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มรวม 101.50 กิโลกรัม น้ำหนักสุทธิ 76 กิโลกรัม สำแดงอุปกรณ์สำหรับใช้ในการออกกำลังกาย (SPORTS EQUIPMENT - WORKOUT EQUIPMENT) จำนวน 32 Sets แต่ไม่มีผู้ใดมาแสดงตนขอรับของ ตรวจพบ เป็นส่วนประกอบอาวุธปืน เช่น ชุดลั่นไก โครงปืน กระบอกเก็บเสียง แม๊กกาซีน และเครื่องกระสุนปืน รวมจำนวน 65 รายการ ประกอบด้วย อะไหล่และส่วนประกอบ จำนวน 126 ชิ้น มูลค่า 550,000 บาท ซองกระสุนและอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 50 ชิ้น มูลค่า 30,000 บาท เครื่องกระสุน จำนวน 104 กล่อง (ประมาณ 2,080 นัด) มูลค่า 130,000 บาท รวมสินค้าทั้ง 2 ชิปเม้น จำนวน 150 รายการ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ประกอบด้วย อะไหล่และส่วนประกอบ จำนวน 272 ชิ้น มูลค่า 1.52 ล้านบาท ซองกระสุนและอุปกรณ์อื่นๆ จำนวน 140 ชิ้น มูลค่า 310,000 บาท เครื่องกระสุน จำนวน 185 กล่อง (ประมาณ 3,700 นัด) มูลค่า 250,000 บาท กรณีดังกล่าว เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และเป็นความผิดตามมาตรา 202 และมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับอาวุธปืนและส่วนประกอบของปืน ทั้งสิ้น 31 ราย ปริมาณ 1,329 ชิ้น มูลค่า 2.2 ล้านบาท
3.ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ (Call Center)
ตามที่กรมศุลกากรได้บูรณาการร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ปฏิบัติการตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาโดยตลอด โดยน่าจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่มีการส่งอุปกรณ์มาจากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยเพื่อส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านทางสามเหลี่ยมทองคำ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงเฝ้าระวังสินค้าจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่นำเข้ามาผ่านการขนส่งทุกรูปแบบ รวมถึงมีการลาดตระเวนตามชายแดน จึงตรวจพบอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ยี่ห้อ “STARLINK” ที่มีการนำเข้ามาทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ การนำเข้าทางอากาศยานในรูปแบบของติดตัวผู้โดยสารและคลังสินค้า รวมถึงการเข้าตรวจค้นโกดังร้างที่สงสัยว่ามีการลักลอบขนย้ายสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีอากร และไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ตรวจยึดอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถรับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเพิ่มเติมได้จำนวน 237 เครื่อง และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 6,200 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 7.29 ล้านบาท กรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดตามมาตรา 166 167 202 208 242 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ Starlink Kit ตราอักษร STARLINK ถือเป็นเครื่องวิทยุคมนาคม ต้องได้รับอนุญาตตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยกรมศุลกากรได้ประสานส่งข้อมูลให้ CIB เพื่อสืบสวนขยายผล สำหรับของกลางจะดำเนินการส่งมอบต่อไป
#ศุลกากร #สินค้าไม่ได้มาตรฐาน #ข่าววันนี้ #บุหรี่ไฟฟ้า #ตำรวจสอบสวนกลาง