วันที่ 7 ส.ค.67 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมผู้รับสัมปทานและผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ได้เข้าหารือเรื่องแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยชี้แจงรายละเอียดแนวเส้นทางก่อสร้าง จุดเริ่มต้นจากถนนสุทธาวาส ผ่านถนนศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เข้าถนนราชดำเนิน ถนนหลานหลวง ผ่านแยกยมราช ตรงเข้าถนนเพชรบุรี ถนนราชปรารภ ถนนวิภาวดี ตัดเข้าถนนประชาสงเคราะห์ สิ้นสุดที่ห้างเอสพลานาด ถนนรัชดาภิเษก เชื่อมกับสายสีส้มส่วนตะวันออก ตลอดแนวเส้นทางก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินจะใช้พื้นที่ถนนและทางเท้าเป็นหลัก โดยจุดที่จะกระทบโครงการของกทม. เช่น โครงการสวนป่า ถนนวิภาวดี หน้าศาลาว่าการกทม.ดินแดง จะมีการก่อสร้างสถานีใต้ดินและทางขึ้นลงบริเวณดังกล่าว จำเป็นต้องรื้อย้ายต้นไม้ออกเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึงสะพานข้ามทางแยกต่าง ๆ เป็นต้น
นายธวัชชัย กล่าวว่า นอกจาก สนย. คณะของรฟม.จะต้องไปหารือร่วมกับอีก 3 หน่วย ได้แก่ สำนักการระบายน้ำ (สนน.) สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) และสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) เพื่อชี้แจงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยก่อนนัดประชุมรวมทุกหน่วยเพื่อสรุปผลความเห็นเสนอคณะกรรมการส่งมอบพื้นที่ โดยมีตนเป็นประธาน มี ผอ.สำนักงานเขตตามแนวเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นกรรมการ พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อจัดทำเป็นบันทึกข้อตกลง (MOU) การส่งมอบพื้นที่ลงนามกับ รฟม. และส่งมอบพื้นที่ให้ ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.67 ตามที่ รฟม.ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯกทม.
สำหรับการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ อาทิ รฟม.โดยผู้รับสัมปทานและผู้รับเหมาก่อสร้าง ต้องรับผิดชอบดูแลพื้นที่ก่อสร้างบนดินตามระยะเวลาที่กำหนดใช้ในการก่อสร้าง 5 ปี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จต้องคืนพื้นที่ หรือผิวจราจรา ทางเท้า โดยปรับปรุงกลับสู่ภาพเดิมตลอดแนวเส้นทางไม่ใช่เฉพาะจุดที่มีการก่อสร้างเท่านั้น เพราะระหว่างสถานีบนดินระยะห่าง 1 กม.ไม่มีการก่อสร้างแต่มีการปรับเบี่ยงจราจรไปใช้ด้านใดด้านหนึ่งทำให้ถนนได้รับความเสียหายเช่นกัน นอกจากนี้จะมีการเน้นย้ำการรื้อย้ายต้นไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้โตลำต้นใหญ่ หลังก่อสร้างแล้วเสร็จรฟม.จะต้องนำต้นไม้ใหญ่กลับมาปลูกไว้ที่เดิม ที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่จะปลูกต้นไม้ขนาดเล็กทดแทนซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะคืนพื้นที่สีเขียว โดยอ้างว่า ปลูกต้นไม้ใหญ่อาจจะเอนล้มได้ รฟม.ต้องแก้ไขเรื่องนี้ รวมถึงการดูแลเรื่องระบบระบายน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมภายหลัง