โบกมืออำลาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ “ชีค ฮาสินา” วัย 76 ปี ที่มีอันต้องกระเด็นตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งบังกลาเทศไปอย่างน่าอนาถ
ภายหลังจากถูกปรากฏการณ์แห่งม็อบ การชุมนุมประท้วง ที่ประชาชนชาวบังกลาเทศ ออกมาลุกฮือไล่
สร้างแรงกดดันจนถึงกับทำให้ นางชีค ฮาสินา ผู้ที่ถูกยกย่องว่า ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดทั้งในประวัติศาสตร์ของบังกลาเทศ และเป็นผู้นำรัฐบาลหญิง ที่รั้งอำนาจยาวนานที่สุดในโลกอีกต่างหากด้วย
โดยการชุมนุมประท้วงข้างต้น ก็เริ่มขึ้นจากบรรดานักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในบังกลาเทศ รวมถึงที่กรุงธากา เมืองหลวงของประเทศ ก่อตัวขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา
แรกเริ่มเดิมที ก็เพื่อประท้วงต่อแผนการเพิ่มโควต้าการจ้างงานภาครัฐ ที่เปิดโอกาสให้บุตรหลานและญาติพี่น้อง ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวของทหารผ่านศึกในสงครามสู้รบเพื่อประกาศเอกราชกับปากีสถาน เมื่อปี 1971 (พ.ศ. 2514) ได้เข้ามาทำงานให้แก่ภาครัฐเป็นจำนวนมาก จนประชาชนพลเมืองธรรมดาแทบจะหมดสิทธิ์
ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ชุมนุม ภายใต้การนำของขบวนการนักศึกษามหาวิทยาลัย ได้พากันลงถนนเพื่อดำเนินประท้วง พร้อมๆ กับมีการยืนเรื่องฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม เพื่อขอใช้อำนาจศาลยับยั้งแผนการเพิ่มโควตาการจ้างงานภาครัฐข้างต้น โดยเรื่องได้ไปถึงศาลฎีกา อันเป็นศาลสูงสุดเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในการชุมนุมประท้วงข้างต้น ซึ่งกินเวลาหลายสัปดาห์ ก็ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 120 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกนับพันราย รวมถึงมีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจับกุมไปอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งการชุมนุมประท้วงดังกล่าว ได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุจลาจล สร้างความป่วนปั่นวุ่นวาย ตลอดจนความเสียหายไปทั่วประเทศเล็กของภูมิภาคเอเชียใต้แห่งนี้
ส่วนผลในทางศาล ปรากฏว่า ศาลฎีกา ในกรุงธากา เมืองหลวงของประเทศ ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคมว่า ให้ยกเลิกแผนการเพิ่มโควตาการจ้างงานภาครัฐให้แก่บุตรหลาน ญาติพี่น้อง ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวของทหารผ่านศึกที่เคยเข้าร่วมรบในการทำสงครามกับปากีสถาน เมื่อ 53 ปีที่แล้ว เกือบทั้งหมดเลยทีเดียว คือ จำนวนถึงร้อยละ 93 ให้กลับมาเปิดโอกาสแก่ประชาชนพลเมืองทั่วไปที่มีความรู้ ความสามารถ ตามเกณฑ์คุณสมบัติที่ทางการกำหนด ได้เข้ามาทำงานให้แก่ภาครัฐต่อไปได้ ส่วนสมาชิกครอบครัวของทหารผ่านศึกดังกล่าว ก็จะได้รับโอกาสการจ้างงานในอัตราสัดส่วนร้อยละ 5
ทว่า ม็อบที่ชุมนุมประท้วง ภายใต้การนำของกลุ่มนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆนั้น ซึ่งแม้จะยินดีปรีดากับคำสั่งศาลดังกล่าว แต่ก็หาได้จบตามการฟ้องร้องของคำสั่งศาลข้างต้นไม่ โดยยังคงปักหลักประท้วง แถมยังเป็นม็อบที่ “จุดติด” แล้วด้วย ซึ่งทางกลุ่มผู้ชุมนุม ก็ลามเลยมาถึงการประท้วงขับไล่ “ชีค ฮาสินา” ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศกันไปด้วย
แบบว่าทางม็อบต้องการให้นางชีค ฮาสินา ไปเสียพร้อมๆ กับแผนการเพิ่มโควตาจ้างงานภาครัฐข้างต้นด้วยกันเลย
ว่าแล้ว ก็ระดมม็อบที่จุดติดแล้วนี้ เพิ่มดีกรีความเข้มข้นในการชุมนุมประท้วงให้รุนแรงยิ่งขึ้น
ถึงขนาดเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง กับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน
สถานการณ์การปะทะรุนแรงถึงขีดสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตในวันเดียวมากถึงกว่า 90 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อย รวมถึงมีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฯ จับกุมตัวอีกเป็นจำนวนมาก
ส่งผลให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหญิงชีค ฮาสินา ต้องประกาศบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิว เพื่อหวังควบคุมการชุมนุมประท้วงที่ทำท่าว่าจะลุกลามบานปลายออกไปเป็นจลาจลอีก
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนมาตรการเคอร์ฟิวดูจะไร้มนต์ขลัง เมื่อปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกลับทวีจำนวนเพิ่มขึ้นนับแสนคน ออกมาลุกฮือขับไล่นางชีค ฮาสินา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ผลปรากฎว่า เธอมิอาจทนแรงกระแสกดดันอีกต่อไปได้ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไป พร้อมกับลี้ภัยไปอินเดีย ด้วยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบังกลาเทศ โดยมีรายงานว่า ชีค ฮาสินา บินลี้ภัยจากกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ ไปอินเดียวพร้อมกับน้องสาวของเธออีกคนหนึ่ง คือ ชีค เรฮานา ซิดดิก วัย 68 ปี
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยเช่นกัน ทางกองทัพบังกลาเทศ น่าจะมีส่วนสำคัญมิใช่น้อยต่อการทำให้นางชีค ฮาสินา ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการที่ พล.อ.วาเกอร์ อุซ ผบ.ทบ. แห่งกองทัพบังกลาเทศ ออกมาแถลง หลังม็อบละเลงเลือดครั้งใหญ่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่นางชีค ฮาสินา จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปว่า กองทัพจะยืนเคียงผลประโยชน์ของประชาชน และความต้องการของประเทศชาติเสมอ นอกจากนี้ พล.อ. วาเกอร์ อุซ ซามาน ผบ.ทบ. แห่งกองทัพบังกลาเทศ ก็ยังมีกำหนดการแถลงกับสื่อมวลชนในวันเดียวกันนั้น แต่ปรากฏว่า ได้ถูกยกเลิกไปโดยไม่แจ้งถึงเหตุผล และเมื่อหลังจากที่ “ชีค ฮาสินา” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้วนั้น ผบ.ทบ.แห่งกองทัพบังกลาเทศผู้นี้ ก็ยังระบุด้วยว่า จะมีการฟอร์ม หรือจัดตั้งคณะรัฐบาลเฉพาะกาล และรักษาการนายกรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศต่อไป
สำหรับ ประวัติโดยสังเขปของ “ชีค ฮาสินา” นั้น เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 1947 (พ.ศ. 2490) เป็นบุตรสาวของ “ชีค มูจิบูร์ เราะฮ์มาน” ประธานาธิบดีคนแรกของบังกลาเทศ และถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศบังกลาเทศแห่งนี้อีกด้วย เพราะเป็นแกนนำสำคัญในเคลื่อนไหวจนบังกลาเทศได้เป็นเอกราชมาจากปากีสถาน
อย่างไรก็ดี ด้วยการเมืองของบังกลาเทศที่เหี้ยมโหด ได้คร่าชีวิตแบบสังหารหมู่ของสมาชิกในครอบครัวของเธอ แต่โชคดีที่เธอและน้องสาว ไม่ได้อยู่ในบังกลาเทศ จึงรอดตายมาได้ และในระหว่างเธอก็ได้เป็นผู้นำขบวนการต่อต้านเผด็จการของบังกลาเทศในต่างแดน เมื่อเธอกลับสู่มาตุภูมิบังกลาเทศบ้านเกิด ก็ต้องถูกกักบริเวณอยู่เป็นระยะๆ กระทั่งได้เข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งแรกก็ได้รับเลือก เบื้องต้นก็เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็ขยับสถานะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 1996 (พ.ศ. 2539) แต่ต่อมาเธอพ่ายแพ้เลือกตั้งจนต้องเว้นวรรคเก้าอี้นายกฯ ไปในปี 2002 (พ.ศ. 2545) ก่อนที่จะกลับมาทวงเก้าอี้นายกฯ ได้อีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2008 (พ.ศ. 2551) ซึ่งในครั้งนี้เธอดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานจนถึงปี 2024 (พ.ศ. 2567) แต่มีอันต้องกระเด็นตกเก้าอี้ไปเพราะปรากฏการณ์ม็อบลุกฮือขับไล่ ปิดฉากผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่ยาวนานที่สุดประวัติศาสตร์บังกลาเทศ และผู้นำรัฐบาลหญิงที่ครองอำนาจยาวนานที่สุด รวมแล้วเบ็ดเสร็จกว่า 20 ปี ทิ้งไว้แต่ผลงานที่เธอทำให้เศรษฐกิจของบังกลาเทศดีขึ้นมาช่วงหนึ่งในอดีต