ยะลา บรรยากาศรับซื้อ-ขายส่งทุเรียน ที่ตลาดค้าส่งในอำเภอเบตง จ.ยะลา คึกคักเป็นพิเศษ ภายจากหลังมีพ่อค้าแม่ค้าจากมาเลเซียและสิงคโปร์ ต้องการทุเรียนในประเทศไทยจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 บรรยากาศที่ตลาดค้าส่งทุเรียน ที่ถนนนาคราชบำรุง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีความคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ต่างมีความต้องการซื้อทุเรียนในประเทศไทย หลังปีนี้ผลผลิตออกมาน้อย และได้รับผลกระทบจากฝนตกต่อเนื่องในช่วงออกผลผลิต แต่ทางพ่อค้าแม่ค้ามีความต้องการทุเรียนพันธุ์พวงมณีและชะนี รวมถึงทุเรียนพื้นบ้านของอำเภอเบตง และผลไม้ชนิดอื่น ๆ ซึ่งนักบริโภคทุเรียนชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ ต่างชื่นชอบรสชาติของผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์พวงมณีและพันธุ์ชะนี และทุเรียนพื้นบ้านของอำเภอเบตง ซึ่งมีรสชาติคล้ายกัน แต่ของไทยจะมีรสชาติดีกว่า จึงกลายเป็นผลไม้ที่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ ให้ความนิยมชื่นชอบเป็นอย่างมาก
แม่ค้าขายส่งทุเรียน กล่าวว่า ทุเรียนส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดต่างประเทศ ราคาซื้อในช่วงนี้จะค่อนข้างแพง ถ้าราคาถูกจะเป็นทุเรียนประเภทตกไซส์ คือ ทุเรียนที่มีรูปร่างไม่สวยแต่เนื้อข้างในเหมือนกัน แต่ถ้าต้องการทุเรียนคุณภาพดีจะแข่งขันกันที่ราคา พ่อค้าแม่ค้าจำเป็นต้องซื้อของด้วยต้นทุนที่สูง แต่ถ้าสู้ราคาไม่ได้ก็ต้องซื้อทุเรียนประเภทตกไซส์มาขายแทน โดยทุเรียนที่ขายในประเทศไทยต้องเป็นทุเรียนคุณภาพ มีเปอร์เซ็นต์สูง 90-100 เปอร์เซ็นต์ ทุเรียนต้องแก่เท่านั้นถึงจะขายได้ แต่ถ้าส่งออกแม้ว่าจะเป็นทุเรียนที่เปอร์เซ็นต์ต่ำประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถขายได้ เพราะผู้บริโภคต่างประเทศนิยมบริโภคทุเรียนอ่อนกรอบ ๆ ปัจจุบันทุเรียนที่ขายตามท้องตลาดโดยเฉพาะตลาดค้าส่ง จะหาได้เฉพาะทุเรียน 80-90 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นอกจากนี้ยังนำทุเรียนตก ไซส์นำมาแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยมีตู้คอนเทนเนอร์หรือห้องเย็นไว้บรรจุ โดยได้รับซื้อผลทุเรียนสด แต่ตกไซส์ มีตำหนิลูกไม่สวย ซึ่งไม่สามารถจำหน่ายเป็นผลสดได้ นำมาแปรรูปโดยแกะเนื้อ ผลิตเป็นทุเรียนแช่แข็ง และเพิ่มมูลค่าโดยกระบวนการ Freeze dry ก่อนส่งจำหน่ายตลาดในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เนื่องจากมีความต้องการบริโภคทุเรียนจากเดิมที่เคยซื้อทั้งผล เปลี่ยนเป็นการซื้อทุเรียนแบบแกะเนื้อบรรจุกล่องหรือถาดขนาด 1-2 พู พอดีสำหรับจำนวนสมาชิกครอบครัว ทำให้ผู้ค้าส่งมองเห็นโอกาสในการจะขยายตลาดทุเรียน จึงนำทุเรียนที่สุกแล้วมาแกะเนื้อแล้วแช่แข็งส่งไปขายผู้บริโภคในมาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งทุเรียนเป็นผลไม้ที่ชื่นชอบของชาวจีนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะทุเรียนที่มาจากเมืองไทย
จากการที่ผลผลิตทุเรียนในปีนี้ค่อนข้างน้อย ปัจจัยสำคัญมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ดอกทุเรียนที่ออกเป็นจำนวนมากร่วง ส่งผลให้ปีนี้ทุเรียนออกล่าช้ากว่าปีอื่น ๆ คาดว่าผลผลิตจะเข้าสู่ตลาดไม่มากนัก แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ทุเรียนจะเริ่มทยอยเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่ทุเรียนที่รับมาในขณะนี้เป็นของเกษตรกรในพื้นที่อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อส่งออกจะมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์พวงมณีและพันธุ์ชะนี ซึ่งราคาขายทุเรียนในช่วงนี้ ทุเรียนพันธุ์พวงมณี มี 3 เกรด คือ เกรดเบอร์ 1 ราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 120-125 บาท นำมาขายส่งออก กิโลกรัมละ 130-140 บาท เกรดเบอร์ 2 ราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 75-80 บาท ขายส่งออก กิโลกรัมละ 80-85 บาท และเกรดเบอร์ 3 ราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 40-50 บาท ขายส่งออก กิโลกรัมละ 45-60 บาท ส่วนทุเรียนพันธุ์ชะนี มี 2 เกรด คือ เกรด A รับมา กิโลกรัมละ 60-65 ขายส่ง กิโลกรัมละ 60-70 บาท เกรด B ราคารับมา กิโลกรัมละ 40-60 บาท ขายส่ง กิโลกรัมละ 45-65 บาท
ซึ่งผู้บริโภคชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ จะเลือกซื้อทุเรียนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 4 กิโลกรัม เนื่องจากจะมีรสชาติกำลังพอดีไม่หวานจนเกินไป และเนื้อทุเรียนจะอ่อนกรอบ ๆ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้เป็นอย่างดี
สำหรับการซื้อขายทุเรียนโดยทั่วไปจะสร้างรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ค้ากับอาชีพซื้อทุเรียนแล้วยังสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนเคาะทุเรียนคนคัดแยกเด็กยกเข่งขึ้นรถและคนต่อรองราคา คนห่อทุเรียน คนเก็บ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายผลผลิตปีละครั้งด้วย