วิกฤตแล้วปลาหมอคางดำบางปะกง มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณสวนทาง 7 มาตรการรัฐที่เพิ่งขยับแก้ ล่าสุดเริ่มลุกลามเข้าใกล้ถึงตัวตลาดบางปะกงมากขึ้น เผยมีทั้งอมลูกอมไข่ยกโขยงกันมาจนเต็มปาก ชาวบ้านวางยอดักแค่เพียงชั่วอึดใจก่อนยกขึ้นได้ถี่ยิบทุก 50 วินาทีไม่มีพลาด เชื่อมาตรการแก้ไขจากรัฐบาลส่อเอาไม่อยู่ มองคุมได้ยาก ขณะชาวบ้านเมินขนไปจุดรับซื้อ เหตุมีค่าขนส่งห่างไกลไม่คุ้มการเดินทาง ระบุขายกันเองทำเป็นอาหารปูในหมู่บ้านได้ในราคาเดียวกันแต่สะดวกกว่า
วันที่ 6 ส.ค.67 เวลา 08.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายชรินทร์ เถื่อนถ้ำแก้ว อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11/4 ม.1 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ชาวหมู่บ้านรางตาสอน ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับ ม.14 ต.บางปะกง อ.บางปะกงว่า ตลอดหลายวันที่ผ่านมานี้ตนสามารถยกยอดักปลาหมอคางดำได้เป็นจำนวนมาก วันละหลายสิบกิโลกรัม และได้ทยอยขายออกไปให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปูทะเลในหมู่บ้านเดียวกัน ในการนำไปสับแล้วหว่านให้ปูกิน
ซึ่งสะดวกกว่าการที่จะขนไปส่งขายยังที่จุดรับซื้อของรัฐบาลที่จะขายได้ในราคาเดียวกัน แต่อยู่ไกลกว่า โดยทราบว่าที่ อ.บางปะกง นั้นมีจำนวน 2 จุดและหากได้ตัวขนาดใหญ่ 5-6 ตัวต่อ 1 กก.จะนำมาทำปลาแดดเดียวทอดกินเป็นอาหาร โดยในแต่ละวันที่ดักได้ จะทำการวางยอไว้เพียงชั่วขณะ ก่อนที่จะยกขึ้นมาดูและพบว่ามีปลาหมอคางดำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ติดขึ้นมาในทุกๆ ครั้ง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นลูกปลาขนาดเล็กกว้างประมาณครึ่งนิ้วถึง 1 นิ้วมากกว่า
โดยพบว่าปลาตัวขนาด 1.5-2 นิ้วขึ้นไปที่เข้ามาติดยอนั้น ในแต่ละตัวมักจะมีไข่ปลาและลูกปลาอมอยู่ในปากแทบทุกตัว เมื่อจับปลาหมอคางดำขึ้นมาบีบคางเพื่อให้ปลาอ้าปากเปิดดู ก็จะพบว่ามีทั้งตัวที่กำลังอมลูกเล็กๆ อยู่เต็มปากละอมไข่อยู่ในปากเป็นจำนวนมาก และหากครั้งใดที่มีปลาหมอคางดำว่ายเข้ามาในยอแบบยกฝูง จะยกได้มากถึงครั้งละ 5 กก. ในทุกๆ 50 วินาที หรือในช่วงระยะเวลา 5 นาทีจะยกยอได้ประมาณ 6 ครั้ง ทำให้เรารู้ได้ว่าปลาหมอคางดำในคลองขุดใหม่ที่เชื่อมจาก ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ มายัง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรานั้น ไม่มีทิศทางที่จะลดปริมาณลงเลย แต่กลับมีมากเพิ่มขึ้น
จากแต่ก่อนในช่วงระยะแรกที่ระบาดเข้ามา ยกได้เพียงประปรายวันละประมาณ 1-5 กก. แต่ขณะนี้ยกยอได้ต่อเนื่องทุกวันมาเกือบ 1 เดือนแล้ววันละประมาณ 15 กก. และได้มากที่สุดประมาณ 20-30 กก. หากนับจำนวนตัวก็คงลำบาก เพราะนับได้ไม่ถ้วนในแต่ละวัน เนื่องจากเป็นปลาตัวขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องรอดูว่ามาตรการของรัฐ 7 มาตรการที่ออกมานั้นจะทำสำเร็จหรือไม่ แต่เชื่อว่าอาจจะช่วยทุเลาลงไปได้บ้างแต่ไม่น่าจะหมดไปโดยง่าย
จากเดิมในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ไม่เคยพบว่ามีปลาหมอคางดำมาก่อน เพิ่งจะเคยพบเห็นเข้ามาในปีนี้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เขื่อนกั้นน้ำเค็มที่บริเวณปากคลองประเวศบุรีรมย์ ใน อ.บ้านโพธิ์ พังทลายลง เมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย.67 ที่ผ่านมา และมีการสูบระบายน้ำเค็มทิ้งที่บริเวณสถานีสูบระบายน้ำคลองผีขุดแห่งนี้ทิ้งทะเล จึงทำให้ในขณะนี้บริเวณด้านหน้าทะเลใกล้ปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง มีปลาหมอคางดำลอยอยู่ใกล้กับแนวป่าชายเลนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ ม.14 ต.บางปะกงนั้น มีผู้พบเห็นเต็มอยู่หน้าทะเล
"ขณะที่เมื่อช่วงเทศกาลวันทำบุญเข้าพรรษาที่ผ่านมา ตนยังพบเห็นปลาหมอคางดำฝูงใหญ่ในคลองขุดใหม่สายนี้ ช่วงตรงบริเวณก่อนถึงหน้าวัดผีขุด และบริเวณใกล้กับหน้ายอของตนเองอีกเป็นจำนวนมาก โดยพบเห็นลอยเป็นแพเต็มหน้าผิวน้ำ ทั้งยังเห็นปลาหมอคางดำวิ่งไล่ฮุบกินลูกปลาหัวตะกั่วบนผิวน้ำด้วย" นายชรินทร์ กล่าว