วันที่ 6 ส.ค.2567 เวลา 09.30 น.มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายจักรพงษ์ แสงมณี รมต.สำนักนายกฯ เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ให้ยกเว้นข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญมาพิจารณา แต่ให้ตั้งคณะกมธ.เต็มสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว 3 วาระรวด


โดยนายเศรษฐา กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการเติมเงินหนึ่งหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 1.22 แสนล้านบาท

 


 

นายเศรษฐา ย้ำว่าประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามร่างพ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีดังนี้ คือ 1.ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 1 หมื่นล้านบาท, 2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 1.12 แสนล้านบาท โดยภาวะเศรษฐกิจในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 มีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภค บริโภค การลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

“ฐานะการคลัง มีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เม.ย. 2567 มีจำนวน 11.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.78 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 พ.ค. 2567 มีจำนวน 3.9 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด” นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท จะทำให้ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3.60 ล้านล้านบาท  จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 9.76 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 8.07 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานหลังนายกฯชี้แจงเสร็จ ได้เดินทางออกจากรัฐสภาไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อทันที