วันที่ 6 สิงหาคม 2567 นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับรายงานสถานการณ์จากจ่าเอกสมควร สิงห์คำ นายอำเภอภูสิงห์ว่า เวลาประมาณ 16.30 น.ของวันที่ 4 สิงหาคม ด่านพรมแดนถาวรช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ได้รับการประสานแจ้งข่าวอุบัติเหตุจราจรทางบก คณะรถมินิบัสนักแสวงบุญจากจังหวัดอุดรมีชัย กว่า 100 คัน ร่วม 2,000 คน แห่กราบไหว้หลวงปู่สรวง วัดไพรพัฒนา ขากลับขณะเดินทางกลับภูมิลำเนาภายหลังจากที่ได้ เดินทางเข้ามากราบสักการะสรีระสังขารหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ รถเกิดพลิกคว่ำ ที่ฝั่งกัมพูชา มีผู้บาดเจ็บ 27 ราย เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 7 ราย จุดเกิดเหตุ ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ-ช่องจวม ประมาณ 5 กม. อำเภออัลเวง จังหวัดอุดรวิชัย
ซึ่งเวลาประมาณ 17.30 น. ศูนย์ประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับการประสานรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุหมู่เพื่อเตรียมความพร้อมรับแผนเผชิญเหตุจากหน่วยประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชาประจำพื้นที่ 1 (นปพท.1) และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศช่องสะงำ พร้อมทั้งรอข้อสั่งการจากอำเภอภูสิงห์ เวลาประมาณ 17.50 น.อำเภอภูสิงห์ได้รับรายงานสถานการณ์จากหน่วยประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชาประจำพื้นที่ 1 (นปพท.1) ที่ได้รับการประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยประสานชายแดนกัมพูชา-ไทย เพื่อทำการส่งตัวผู้ประสบอุบัติเบื้องต้นจำนวน 4 รายจาก รพ.อัลลองเวงเข้ามารับการรักษาต่อที่ รพ.ภูสิงห์ เวลาประมาณ 18.00 น.จังหวัดศรีสะเกษ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้รับรายงานสถานการณ์จากอำเภอภูสิงห์ก็ได้สั่งการให้ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทันทีภายใต้หลักมนุษยธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ต่อมา เวลาประมาณ 18.05 น.อำเภอภูสิงห์ได้ใช้หลักของแผนรับอุบัติเหตุหมู่ในการคัดกรองคนเจ็บที่จะเข้ามารับการรักษาในราชอาณาจักรไทย กล่าวคือ เบื้องต้นต้องเป็นกลุ่มระดับที่ 1 สีแดง คือฉุกเฉินวิกฤติ (Emergency) โดยประสานให้กัมพูชาทำเอกสารใบส่งตัวผู้ป่วยเข้ามาทุกราย เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง เวลาประมาณ 18.20 น.รถพยาบาลฉุกเฉินระดับ(ALS/BLS) ของรพ.ภูสิงห์ จำนวน 2 คัน และรถพยาบาลฉุกเฉิน ระดับ(FR)ของอบต.ห้วยตามมอญ ได้รับข้อสั่งการจากศูนย์ส่งต่อผู้ป่วย รพ.ภูสิงห์ให้ขึ้นมารับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (Emergency) จำนวน 4 รายที่บริเวณด่านพรมแดนถาวรช่องสะงำ
ขณะรถกำลังเดินทางขึ้นมา ทางหน่วยประสานงานกัมพูชา-ไทยได้แจ้งเข้ามาว่า รพ.อัลลองเวงขอส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (Emergency) อีก 2 รายรวมเป็น 6 ราย ซึ่งเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้ากู้ชีพจำเป็นต้องเข้าทำการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อนำผู้บาดเจ็บฯทั้ง 6 รายไปส่งที่ห้องฉุกเฉิน รพ.ภูสิงห์ เวลาประมาณ 19.00 น.หน่วยประสานงานกัมพูชา-ไทยได้แจ้งเข้ามาว่า รพ.อัลลองเวงขอส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (Emergency)อีก 1 รายรวมทั้งสิ้นเป็น 7 ราย ประกอบด้วย 1.นาง กิม อิน 60 ปี 2.นาง สรัย เทีย 61 ปี 3.นาง เลน สุขเขือน 65 ปี 4.นาง สาวมิด สุพารัต 19 ปี 5.นาง กอน รน อายุ 66 ปี 6.นาง สาน สุเพียบ 52 ปี 7.นายฮับ เคิน 65 ปี
ซึ่งรายหลังต้องรอรถพยาบาลที่ต้องออกเหตุในพื้นที่อำเภอภูสิงห์ เพราะมีการนำส่งผู้ป่วยบางรายไปยัง รพ.ศรีสะเกษแล้ว ส่งผลให้ขึ้นมารับที่ด่านล่าช้าเนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรการแพทย์ของพื้นที่ โดยผู้บาดเจ็บได้รับการดูแลจาก จนท.รพ.อัลลองเวง ขณะรอการส่งต่อ ท้ายสุดแล้วผู้ประสบอุบัติเหตุทั้ง 7 รายก็ได้รับการช่วยเหลือจากข้อสั่งการของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และการอำนวยการของนายอำเภอภูสิงห์ ที่บัญชาการเหตุการณ์ ฉุกเฉิน(Incident Commander)เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำตกเขา ตามหลักมนุษยธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อสังเกต ว่ายานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางค่อนข้างมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ จำนวนผู้เดินทางก็มีปริมาณมาก สภาพการจราจรถนนโค้ง ลาดชันบนภูเขา ฝนตก ถนนลื่น จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้.