"นายกฯ" ควง "รมต." มอบนโยบาย "กรมชลประทาน" ให้บริหารจัดการน้ำพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมลงรายละเอียดรายอำเภอ พร้อมสั่งทำแผนแก้ปัญหาน้ำเร่งด่วน 3 ปี เผยให้ "สทนช." ส่งแผนน้ำเข้า ครม.สิ้นเดือน ส.ค.นี้ มั่นใจไม่ท่วมใหญ่เหมือนปี 54 แน่นอน

    
ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กทม. เมื่อวันที่ 5 ส.ค.67 เวลา 09.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และคณะผู้บริหาร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
    
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม นายกฯ รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ จากอธิบดีกรมชลประทาน โดยภาพรวมสถานการณ์ฝนในปีนี้ ณ ขณะนี้อยู่ที่ 56% ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ 4% ขณะที่นายกฯ กำชับให้ทางกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมให้ดูแลลงรายละเอียดเป็นรายอำเภอ
    
นอกจากนี้ อธิบดีกรมชลประทานยังรายงานถึงสถานการณ์ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก มีการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 1-5 ส.ค.นี้ ในระดับคงที่ แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาท้ายเขื่อนจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ขณะนี้ได้ปิดการระบายน้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชลแล้ว
    
ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป นายกัฐมนตรี ได้กำชับนายอนุทินว่าอยากฝากเรื่องของแม่น้ำโก-ลก จังหวัดนราธิวาส หลังจากลงพื้นที่ร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พบว่า จำเป็นจะต้องมีการขุดลอกคลอง เพื่อไม่ให้คลองตื้นเขินและระบายน้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาอยู่ เนื่องจากฤดูฝนของภาคใต้จะมาช้ากว่าภาคอื่นๆ ประมาณเดือน พ.ย.
    
โดย นายอนุทิน รายงานว่า เรื่องนี้มีแผนและอยู่ในแนวของผังเมือง ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะประสานไปทางประเทศมาเลเซีย 
    
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำและกำชับอีกว่า ให้ดำเนินการโดยเร็วแม้ฝนจะมาช้าก็ตาม จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนฝนจะมา เพราะทางมาเลเซียเดือดร้อน เนื่องจากมีพื้นที่ต่ำกว่าประเทศไทย แต่ฝ่ายเราก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน อย่างปีที่แล้วก็เกิดปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาส หากดำเนินการตรงนี้ได้ก็จะบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้
    
จากนั้น นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ พร้อมมอบนโยบายว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วปัญหาเรื่องน้ำเราเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งและน้ำไม่ได้คุณภาพ ซึ่งตนมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน เพราะส่งผลต่อความเสียหายอย่างหาค่ามิได้ต่อประชาชนคนไทยทุกคน 
    
"ผมได้มอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องน้ำบูรณาการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะทำแผนงานและโครงการที่สามารถเร่งรัดดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี และตลอดจนการพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาว เพื่อให้น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ขอเน้นการเสริมประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ก่อนพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำ และระบบการกระจายน้ำเพิ่มเติมเพื่อการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วงฤดูฝนนี้ ผมมอบหมายให้กรมชลประทานและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ GISTDA นำเสนอพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว
    
ต่อมา นายเศรษฐา แถลงภายหลังมอบนโยบาบกลมชลฯ ว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ น้ำดื่ม น้ำใช้น้ำบริโภค ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องน้ำเร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” อย่างยั่งยืน ซึ่งตนเน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ โดยที่ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำได้พิจารณาและเห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนภัยพิบัติด้านน้ำอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ โดยประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ดังนี้ 1.การเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค 2.การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ 3.การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน 4.การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง และ 5.การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ
    
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ตนและรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชน โดยตนได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาภายในเดือนส.ค.นี้ และตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากร่วมกับกรมชลประทาน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสทนช.ร่วมกันติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด เมื่อถามว่า แผนระยะ 3 ปี ใช้งบประมาณเท่าไหร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้คอยถึงสิ้นเดือนส.ค.ดีกว่า ให้สทนช.เตรียมเรื่องให้ครบก่อนวันนี้เป็นวันคลิกออฟ แล้วสิ้นเดือนส.ค.จะมีการแถลงใหญ่
    
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีพื้นที่ไหนที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เท่าที่ดูรายงานก็มีภาคตะวันออกที่กำลังประสบปัญหาอยู่และภาคอีสานบางจุด ก็มีการสั่งการแล้วว่าให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ให้มีการปรับแผนตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการรายงานผลของ GISTDA เมื่อถามว่า มีการแจ้งเตือนประชาชนได้มีการพัฒนาอย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้ GISTDA ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทานและกระทรวงมหาดไทย
    
เมื่อถามอีกว่า เป็นห่วงและเน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเรียนอย่างนี้อาชีพเกษตรเป็นอาชีพหลักของเราหลาย 10 ล้านคน เรื่องของน้ำดื่มน้ำใช้ พวกเราในกรุงเทพฯมีน้ำใช้กันอย่างเต็มที่ แต่ถ้าลงไปต่างจังหวัดมีอีกหลายพื้นที่ที่น้ำใช้อุปโภคและบริโภคยังไม่มี และทุกปีเราใช้งบประมาณในการชดเชย เรื่องการช่วยเหลือจุนเจือเป็นปลายเหตุ ถ้าเราบริหารจัดการไม่ให้มีน้ำท่วมน้ำแล้ง เชื่อว่าความเดือดร้อนของประชาชนจะหายไปเยอะ รวมถึงผลกระทบในเชิงบวกที่จะก่อให้เกิดผลผลิตทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเราเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารสูง การที่ดารเมืองโลกร้อนระอุ มีการเรื่องแย่งอาหารเยอะมาก จะทำให้ประเทศไทยมีจุดเด่นทางด้านนี้มาก เรื่องน้ำมีอยู่ 3-4 เรื่อง คือ น้ำในระบบนิเวศ น้ำอุปโภคบริโภคและน้ำที่ใช้ในการเกษตร และเรื่องสุดท้ายพูดกันน้อย คือ น้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ๆต้องการน้ำเยอะ การที่เราไปเชิญต่างชาติให้เขามาลงทุน และให้มาตรการด้านภาษีสนับสนุน เขามาแล้วน้ำขาดก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องบูรณาการครบทุกภาคส่วน ผู้บริหารทุกท่านเห็นพ้องต้องการ ถ้าเราบริหารจัดการน้ำได้ดีประเทศไทยก็เดินไปข้างหน้าได้ เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 54 ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ยิ้มก่อนกล่าวว่า “ครับ”

                     *