"เศรษฐา" เผย"บิ๊กตู่" เมตตาให้กำลังใจขอให้อดทน กำชับเด็ก "รทสช." ช่วยทำงาน ไม่ขัดพรรคร่วมฯเสนอปรับครม. พร้อมพิจารณาแต่ต้องพ้น ส.ค.ที่มีหลายคดีสำคัญ ด้านเด็ก”ปชป.”เบรกทูต 18 ประเทศ จ่อแทรกแซงศาลคดียุบ”ก้าวไกล” บี้”กต.”จัดการ ขณะที่ "อนุทิน" ชงชื่อ "อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์" ให้ครม.ไฟเขียวนั่งปลัดมท. คนใหม่
ที่กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 5 ส.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ที่มาร่วมฟังสวดพระอภิธรรม คุณแม่ชดช้อย ทวีสิน มารดา นายกรัฐมนตรี ได้มีการพูดคุยอะไรกันบ้างหรือไม่ ว่า ตามที่เห็นท่านให้ความเมตตา ซึ่งท่านมางานสวดศพคุณแม่ตน และระหว่างเดินมาก็ได้ให้กำลังใจ โดยท่านบอกว่าเป็นกำลังใจให้นะ ไปไหนมาบ้าง ซึ่งเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ตนได้ไปจ.นราธิวาสมา ท่านก็บอกว่าโอ้ยทำงานหนักเลย และได้เดินผ่านรัฐมนตรีและสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มาให้การต้อนรับ ท่านก็บอกว่าให้ช่วยนายกฯดีๆ นะ และหันไปแซวบางคนว่าคนนี้ดื้อไหม อะไรอย่างไรไหม ตนก็บอกว่าไม่ดื้อครับ ไม่มีใครดื้อ ทุกคนทำงานกันไม่มีเวลาดื้อ ปัญหาของพี่น้องประชาชนเยอะ ซึ่งท่านก็หัวเราะ และยังเดินผ่าน 2-3 ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งท่านก็บอกว่าโอ้ยนี่ช่วยเหลือได้ดี ซึ่งตนก็บอกว่าใช่ครับ เป็นกำลังสำคัญ ก็เป็นการพูดคุยกันอย่างมีมิตรภาพที่ดี และระหว่างที่นั่งอยู่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็นั่งด้วย ก็มีการพูดคุยกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฝากข้อห่วงใยอะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ท่านบอกให้อดทน และท่านเป็นกำลังใจให้ และท่านก็ฝากตนกับพรรครวมไทยสร้างชาติ บอกให้ช่วยซึ่งกันและกัน ซึ่งก็เป็นความเมตตา เมื่อถามว่า ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เจอกับพล.อ.ประยุทธ์ หลังเจอกันที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และได้พูดคุยกันเยอะใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ไม่ครับ” เคยได้เจอกันหลายครั้งกว่า 10 หน ระหว่างร่วมงานพระราชพิธีระหว่างนั่งคอยที่ห้องรับรองก็พูดคุยกันเยอะหลายๆเรื่อง มีการขอความเห็นท่านหลายๆเรื่องอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ปรากฏเป็นภาพออกไป
เมื่อถามว่า จะมีโอกาสนัดพบและพูดคุยกัน ถึงเรื่องบ้านเรื่องเมืองเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าเกิดมีความจำเป็นก็คงต้องไปคุย ตนยินดีกับทุกท่านอย่างที่เคยบอก อดีตนายกฯ ทุกท่านตนรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ได้คุยกับนายอานันท์ แต่คุยเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า เมื่อถามว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค.พล.อ.ประยุทธ์บอกกับพรรครวมไทยสร้างชาติว่าอย่าดื้ออย่าเกเร ให้ช่วยงานนายกฯ และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ดื้อและเกเรหรือเปล่า จังหวะนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งยืนอยู่ด้วยตอนสัมภาษณ์ได้หัวเราะ ขณะที่นายกฯ ก็หัวเราะพร้อมกล่าวว่า ไม่ดื้อครับ อย่างที่ตนเคยบอกเป็นเรื่องภายในของเขา ตนไม่เคยต้องไปถาม ร.อ.ธรรมนัส เรามุ่งมั่นทำงานกันอยู่แล้ว ตรงนี้อย่าเป็นประเด็นเลย เอาเรื่องพี่น้องประชาชนเป็นหลักดีกว่า
นายเศรษฐา ยังได้กล่าวถึงกระแสข่าวพรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อปรับ ครม.ในโควตาของพรรคที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่ง ว่า ตนได้อ่านจากหนังสือพิมพ์เมื่อเช้าวันเดียวกันนี้ แต่เรื่องยังไม่ถึงมือตน ซึ่งตนก็บอกว่าเรื่องนี้ ตอนนี้ในเดือน ส.ค. คิดว่ามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบตุลาการเยอะไปหมด จริงๆแล้วต้องให้เกียรติตรงนั้นก่อนดีกว่า ให้หลายเรื่องมันจบไปก่อนดีกว่า แต่แน่นอนถ้าเกิดพรรคร่วมรัฐบาลเสนอมาเราก็ต้องพิจารณา แต่ว่าคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะยังมีเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องให้เกียรติตรงนั้นก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการยุบพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นจะส่งผลกับสถานการณ์อะไรหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่เกี่ยวครับ” เมื่อถามต่อว่า ต้องมีการเตรียมความพร้อมดูแลเรื่องความสงบและความปลอดภัยด้วยหรือไม่ในช่วงดังกล่าว นายเศรษฐา กล่าวว่า เชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงดูแลดีอยู่แล้ว
ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดี ยุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 ส.ค.ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อกังวลเฉพาะของคนไทย แต่เป็นข้อกังวลของนานาประเทศทั่วโลกไปแล้ว ที่ต่างก็ออกแถลงการณ์ ในเรื่องที่องค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน สามารถจะมายุบพรรคการเมือง ซึ่งมาจากประชาชน โดยตนเข้าใจว่าเป็นความกังวลของนานาประเทศที่อยู่ในกลไกของประชาธิปไตย และมองเป็นเรื่องใหญ่ โดยในส่วนของสว.เองก็จะต้องแสดงจุดยืนเรื่องนี้ด้วย โดยสว.น่าจะมีการออกแถลงการณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างแถลงการณ์ก่อนจะแถลงในวันเดียวกันนี้ หรือวันที่ 6ส.ค. ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสว.พันธุ์ใหม่ หรือสว.กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจจะเป็นภาพรวมของสว.ว่าจะมีจุดยืนตรงนี้อย่างไร ดังนั้นขอเชิญชวนให้สว.ทุกคนที่ตระหนักในเรื่องกลไกประชาธิปไตยมาร่วมกันลงชื่อด้วย
เมื่อถามว่า เนื้อหารายละเอียดของแถลงการณ์เป็นอย่างไรบ้าง น.ส.นันทนา กล่าวว่า จะเป็นการแสดงความกังวลในเรื่องขององค์กรอิสระว่าสามารถเข้ามากำหนดและเปลี่ยนแปลง เรื่องของทิศทางการเมืองไทย การที่ตัวองค์กรอิสระสามารถจะยุบสถาบันที่มาจากประชาชน พรรคการเมือง ที่ประชาชนเลือกมา จะมองในเรื่องของหลักการประชาธิปไตยที่เป็นอารยะ
นางอังคณา นีละไพจิตร สว. กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองนั้น ไม่ควรเกิดขึ้น และครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์ยุบพรรคการเมือง ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องยอมรับ และเข้าใจว่า พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง และมีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 มีประชาชนร่วมบริจาคเงินให้กับพรรคเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนมีความคาดหวังสูงกับ ซึ่งการยุบพรรคครั้งนี้ที่ทำได้ง่ายดาย เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และทั่วโลกต่างจับตา เพราะการยุบพรรคถือเป็นเรื่องใหญ่
“รัฐธรรมนูญปัจจุบันถือเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องมีการแก้ไข หากมีการเสนอต่อสภา เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าสว.พร้อมที่จะสนับสนุน ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ส.ส.ก้าวไกล แถลงชี้แจงกรณีรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนหนึ่ง (นายคารม พลพรกลาง) ได้กล่าวหาหัวหน้าพรรคและพรรคก้าวไกลหลายประการในการต่อสู้ทางกฎหมายในคดียุบพรรคก้าวไกลว่า การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของรองโฆษกฯ เกิดจากความมีอคติส่วนตัวและความไม่เป็นมืออาชีพในตำแหน่งโฆษกรัฐบาล ประการแรก การต่อสู้เรื่องอำนาจศาลที่กำลังพิจารณาคดีในคดีใดคดีหนึ่งว่าศาลนั้นไม่มีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวนั้น เป็นการต่อสู้คดีโดยปกติที่ฝ่ายถูกร้องหรือฟ้องร้องสามารถยกขึ้นมาต่อสู้คดีได้ทุกคดีในศาล ไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายที่ยกเรื่องศาลไม่มีอำนาจขึ้นมาต่อสู้แล้วเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีคดีในศาลจำนวนมากที่ศาลยกฟ้องด้วยเหตุที่มีการฟ้องผิดศาลคือโจทย์หรือผู้ร้องไปฟ้องต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกลยกข้อต่อสู้ประเด็นหนึ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งตรงกันข้าม
การที่ผู้ที่ประกอบวิชาชีพกฎหมาย แต่พูดชี้นำศาลรัฐธรรมนูญว่าการยกข้อต่อสู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเป็นการละเมิดอำนาจศาลเช่นนี้ หากไม่ใช่การมีความรู้อันจำกัดของผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายแล้ว น่าจะเป็นการแสดงความเห็นโดยมีอคติส่วนตัวกับพรรคก้าวไกล
ประการที่สอง การต่อสู้ของพรรคก้าวไกลที่ยกขึ้นต่อสู้เรื่องการที่ กกต. ดำเนินกระบวนการไม่ถูกต้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองและระเบียบ กกต. ในเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานเพราะ กกต. ไม่ได้เรียกให้พรรคก้าวไกลได้มีโอกาสให้ข้อเท็จจริงหักล้างข้อกล่าวหาของผู้กล่าวหานั้น ขอชี้แจงว่า เป็นการต่อสู้ของพรรคก้าวไกลในวิธีพิจารณาของ กกต. ก่อนที่ กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ประการที่สาม การใส่ร้ายว่าพรรคก้าวไกลดึงต่างประเทศมากดดันศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นว่าบุคคลที่มีความคิดเช่นนี้ขาดวุฒิภาวะในความเข้าใจสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่ประเทศไทยไม่สามารถอยู่โดดเดียวในสังคมโลกได้ คุณค่าของสังคมโลกในขณะนี้อยู่ที่การมีสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีผลต่อการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสิ้น ที่ผ่านมา เมื่อประเทศไทยเกิดรัฐประหารครั้งใด นานาชาติก็จะตัดการเจรจาการค้าและความร่วมมือทางทหารและสังคมกับประเทศไทยการที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ทำให้เข้าใจได้ว่าสมควรยุบพรรคก้าวไกล ตนคิดว่านายกฯ สมควรทบทวนการทำงานของรองโฆษกฯคนนี้ว่าได้แสดงความคิดเห็นแบบมืออาชีพของการเป็นโฆษกรัฐบาลหรือไม่ เพราะไม่ได้บอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัวโดยไม่ใช่ความเห็นรัฐบาล ดังนั้น ประชาชนจะเข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองเหมือนเช่นที่เคยเกิดกับพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงท่าทีของทูต 18 ประเทศ ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดีพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ว่า มีความหมิ่นเหม่เสมือนเป็นความพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวตั้งอยู่บนข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงและพฤติกรรมอันเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ โดยพรรคก้าวไกลได้ดำเนินการต่อสู้คดีความตามวิถีของตนเองแล้ว และไม่มีกลไกใดเข้าขัดขวางการต่อสู้ดังกล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวว่า การแสดงออกของกลุ่มทูต 18 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีให้การสนับสนุน เห็นอกเห็นใจ รวมถึงการประกาศไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคก้าวไกล ถือเป็นเรื่องผิดมารยาทอย่างมาก ทั้งนี้ ขอให้คณะผู้แทนประเทศเหล่านั้นตระหนักไว้ว่าสิ่งที่ได้ทำไปไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อยอดความสัมพัทธ์ระหว่างประเทศแต่อย่างใด ขณะที่ประเทศไทยไม่เคยเรียกร้องหรือแสดงออกทางใดทางหนึ่งที่เป็นการไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่นเลย จึงเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศจะต้องยึดถือให้ตรงกัน” น.ส.รัชดากล่าว
“ขอตั้งคำถามถึงการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศว่าทำอะไรอยู่ ได้ดำเนินการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศบ้างหรือไม่หรือปล่อยให้ทูตประเทศต่างๆ รับข้อมูลเพียงด้านเดียว จึงเป็นเหตุให้แสดงท่าทีออกมาเสมือนคนไม่รู้เช่นนี้ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศแสดงบทบาทผู้ปกป้องกระบวนการยุติธรรมไทย กฎหมายไทย เพื่อหยุดยั้งท่าทีแทรกแซงประเทศของเรา หรือการยอมเป็นเหยื่อพรรคการเมือง ซึ่งสุดท้ายกระทบต่อความรู้สึกคนไทยอย่างแน่นอน”
วันเดียวกัน เพจพรรคก้าวไกล โพสต์ระบุว่า ไปต่อ! ข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดีที่พรรคก้าวไกลส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 2 ข้อเท็จจริง 1.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 2.นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่นๆ ตามคําร้อง มิได้เป็นการกระทําของพรรคก้าวไกล 3.การกระทำตามที่ กกต. กล่าวหา มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ติดตาม 7 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 ส.ค.นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย จะเสนอแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูงในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยแทน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยคาดว่าจะเสนอชื่อ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป