วันที่ 5 ส.ค.67 สำนักงานประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ร่วมกับเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หน่วยงานต่าง ๆ และชาวประมงจิตอาสาร่วมกันลงพื้นที่คลองตะเกียบ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อจับปลาหมอคางดำ นำโดย ว่าที่ร้อยตรีสมนึก พรหมศร ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางสาวไพลิน กองพันธ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นายอติชาติ ชัยศรี รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน/นายกสมาคมประมงปราณบุรี นายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกิติศักดิ์ บัวลาด ประมงอำเภอหัวหิน นายประเสริฐ แตกช่อ นายกสมาคมชาวประมงประจวบคีรีขันธ์/นายกสมาคมประมงหัวหิน และรองประธานกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นายวินัย วรรณสุก ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กหัวดอน นายจอมขวัญ ลิ้มเนี่ยตี๋ หรือ ไต๋ขวัญ มากมี ชาวประมงจิตอาสา นายปิยะพล กังวล หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวบางนางรม สังกัดเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมผู้ต้องราชทัณฑ์ ร่วมลงพื้นที่ในกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” วางตาข่ายตาถี่จับปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นเอเลี่ยนสเปีชี่ส์ทำลายระบบนิเวศ ออกจากคลองธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ซึ่งปรากฎว่าใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถจับปลาหมอคางดำได้ทุกขนาด ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และลูกปลา โดยมีชาวบ้านมาขอแบ่งไปรับประทานบางส่วน ที่เหลือนำไปจำหน่ายเพื่อทำปุ๋ยต่อไป 

ว่าที่ร้อยตรีสมนึก พรหมศร ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า วันนี้สำนักงานประมงจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และกรมราชทัณฑ์ นำผู้ก้าวพลาดที่ผ่านเกณฑ์งานสาธารณะฯ และมีทักษะด้านการประมงและการจับปลา ออกบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยการช่วยกัน “กำจัดปลาหมอคางดำ” โดยได้อวนผืนใหญ่และมีขนาดตาเล็ก ล้อมจับปลาหมอคางดำ ปรากฎว่าสามารถจับปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ และขนาดเล็กได้เป็นจำนวนมาก 

สำหรับการกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น ต้องปรับการทำงานกันหน้างาน เพื่อที่จะจับขึ้นมาจากคลองให้ได้มากที่สุด ต้องช่วยกันทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชน พี่น้องชาวประมงในพื้นที่ ต้องช่วยกันจับเอาขึ้นมาทำกินหรือจับขาย และเมื่อเหลือลูกปลาขนาดเล็กมากๆ จะหาวิธีกำจัดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะต้องฟังเสียงจากประชาชนเป็นหลักว่าอยากให้กำจัดแบบใดบ้าง ซึ่งในวันนี้มีหลายภาคส่วนมาช่วยกัน โดยได้นายบัญชา โชติช่วง ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นตัวแทนในการรับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมักชีวภาพ สำหรับช่วยเหลือให้กับภาคเกษตรกร โดยวันนี้มีทีมประมงฯ ลงพื้นที่กำจัดปลาหมอคางดำที่อำเภออื่นๆ พร้อมกันด้วย มีหน้าที่ของประมงคือ ต้องจับเอาปลาหมอคางดำขึ้นมาจากคลองให้ได้มากที่สุด

ส่วนการรับซื้อปลาหมอคางดำนั้น รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งได้กำหนดจุดรับซื้อไว้มากถึง 13 จุด ครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือว่าเปิดจุดรับซื้อมากสุดในประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่เป็นทางยาวกว่า 220 กิโลเมตร จึงได้กำหนดจุดรับซื้อมากเป็นพิเศษ โดยที่ อ.หัวหิน กำหนดไว้ 2 จุด ปราณบุรี 1 จุด สามร้อยยอด 2 จุด กุยบุรี 6 จุด เมือง 1 จุด  และ บางสะพาน 1 จุด ซึ่งตามจุดที่รับซื้อจะส่งต่อปลาหมอคางดำไปให้หมอดินอาสา โดยการดูแลของสถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ เพื่อตรวจรับเรียบร้อยแล้ว การยางฯ จะจ่ายเงินให้กับผู้รวบรวมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะมีค่าบริหารจัดการ 5 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ กำลังศึกษาข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัด และศึกษาว่าพื้นที่อำเภอใดควรเพิ่มความถี่ในการกำจัดเพื่อให้เบาบางลง ร่วมกับมาตรการในการ ลงแขกลงคลองเพื่อจำกัดปลาหมอคางดำที่กำลังทำอยู่นี้ คาดว่าประมาณ 1 เดือนจากนี่ น่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

ด้าน นายจอมขวัญ ลิ้มเนี่ยตี๋ หรือ ไต๋ขวัญ มากมี ชาวประมงจิตอาสา กล่าวด้วยว่า วันนี้ตนพร้อมพี่น้องชาวประมงในชุมชนหัวดอน มาร่วมทอดแหจับปลาหมอคางดำ บริเวณท้ายคลองเขาตะเกียบ ซึ่งชาวบ้านได้ทยอยจับปลาหมอคางดำมาหลายครั้ง ตลอดเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เบื้องต้นประเมินว่าปริมาณปลาตัวใหญ่ขนาดโตเต็มวัย ปริมาณลดลงประมาณร้อย 10 เท่านั้น ซึ่งยังลดลงไม่มากนัก เนื่องจากปลาชนิดนี้แพร่ขยายพันธุ์เร็วมาก เพียงแค่ 22 วันเท่านั้น และยังมีความแข็งแรง อดทน รวมทั้งจุดที่ปลาแพร่ระบาดคืออาศัยอยู่ในคลอง ซึ่งไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ จึงทำให้มีปริมาณมากเป็นพิเศษ ตอนนี้ก็ขอให้ประมงช่วยนำแหตาถี่ๆมาให้ชาวบ้าน ได้ช่วยกันทอดแหจับลูกปลาหมอคางดำขนาดเล็ก เพื่อลดปริมาณให้ได้มากที่สุด โดยวันนี้ตนพอมีเวลาว่างจากการออกเรือ จึงชวนเพื่อนชาวประมงมาทอดแหจับปลาหมอ ซึ่งพบว่าแต่ละครั้งยังสามารถจับปลาได้ราว 5-6 กิโลกรัม เป็นขนาดตัวเต็มวัยเกือบเท่าฝ่ามือ ช่วยกันจับไม่กี่ชั่วโมง ก็จับได้เกือบร้อยกิโลกรัม โดยปลาที่จับได้จะนำไปขายที่จุดรับซื้อ ซึ่งจะได้กว่าหนึ่งพันบาท นำมาแบ่งเป็นรายได้เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ และอีกส่วนนำเป็นเงินกองกลางสำหรับจิตอาสาในการจับปลาหมอคางดำครั้งต่อไปเพื่อในการซื้อข้าวและซื้อเครื่องดื่ม