วันที่ 5 ส.ค.2567 เวลา 09.40 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานสภาวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้พิจารณาวาระการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจ สอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามที่คณะกรรมการอัยการ(ก.อ.)เสนอชื่อนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอัยการสูงสุด ขึ้นทำหน้าที่เป็นอัยการสูงสุด
จากนั้นเวลา 17.25 น.ที่ประชุมวุฒิสภากลับมาประชุมใหม่ หลังจากพักการประชุมไปประมาณ 1 ชั่วโมง โดยน.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ สว. ลุกขึ้นอภิปรายว่า ตนเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ได้เข้ามาเป็นวาระแรก และไม่เคยลงตำแหน่งทางการเมืองใดๆในชีวิต และหวังว่าจะได้ใช้ประสบการณ์การความรู้ ความสามารถ มาใช้ก่อประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติ ด้วยการเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ และการประชุมทั้งวัน วันนี้ที่เกิดขึ้นตนรู้สึกผิดหวัง เศร้าใจ เสียใจ และไม่คาดคิดจะมาเจอภาพแบบนี้ บรรยากาศที่มีการเสนอชื่อเป็นแพ็ค 15 คน เป็นกลุ่ม เป็นก้อน แล้วเราต้องมาโหวตกันหรือ วาระนี้เป็นวาระที่สำคัญที่สุดของการเป็นสว. คือวาระการแต่งตั้งหรือตรวจสอบองค์กรอิสระ ทำไมเราไม่คุยกัน ทำไมต้องลงมติ หรือทำไมต้องเลือกแพคกันมา ซึ่งเหตุการณ์ดูคุ้น ตนยังไม่ลืมแต่ตนรู้สึกผิดหวังและเสียใจ ในวันที่พวกเราสว. อันทรงเกียรติได้เข้ามาในสถานที่แห่งนี้ สถานที่ที่ใช้และงบประมาณของประเทศชาติ ทำไมบรรยากาศไม่เป็นเช่นนั้น
“เราเคยมีเผด็จการรัฐสภามาแล้ว วันนี้ทำไมเราจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เผด็จการวุฒิสภาอีกหรือ ดิฉันเป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 46 ปี ชีวิตนี้ไม่เคยคาดคิดจะเข้ามาในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ด้วยวัยเท่านี้ แต่เมื่อมาแล้วเกิดอะไรขึ้น ท่านกำลังทำอะไรกันอยู่ ท่านทำหน้าที่เพื่อประชาชนประเทศชาติได้หรือไม่ เราต้องมาเลือกกันแบบนี้อีกหรือ แล้วอ่านไลน์หรือ จดกันอีกหรือ พอได้แล้ว อย่าให้ประชาชนที่มองเราในวันนี้ ผิดหวังกับเรามากไปกว่านี้ หลายท่านในที่นี้มีเกียรติ ทรงสง่าราศีทำคุณงามความดีมาทั้งชีวิต อย่ามาทิ้งไว้ตรงนี้เลย ขอให้ช่วยกลับไปทบทวนในจิตใจสักนิด ขอให้ปิดไลน์ และเมื่อสักครู่มีคนเดินบอกว่าให้อ่านไลน์ด้วย พอเถอะ ดิฉันอับอายประชาชนทั้งชาติทั้งประเทศ ”น.ส.รัชนีกร กล่าวพร้อมเสียงสะอื้น
น.ส.รัชนีกร กล่าวต่อว่า ขอให้ใช้วิธีการไกล่เกลี่ย และหากไกล่เกลี่ยไม่ได้ขอให้เลือกกันเองหรือจับฉลาก เพราะตนเชื่อว่ารายชื่อที่เข้ามาทั้งหมด ที่กำลังจะลงมติเขาตั้งใจมาทำงานและเขามีศักยภาพสูง ตนไม่อยากให้เป็นก้อนเดียวกันเข้ามาทำงาน ฉะนั้น ขอเสนอวิธีการจับฉลาก
ทำให้พล.อ.เกรียงไกร ชี้แจงว่า ทุกคนก็มีความรู้สึกเหมือนสมาชิกเพราะทุกคนเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ เพื่อชาติบ้านเมืองเหมือนกัน และทุกคนมีความรู้ความสามารถ ผ่านขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องขอบคุณสมาชิกที่ช่วยกันเตือนสติ ซึ่งการเสนอรายชื่อเป็นกมธ. ก็เห็นอยู่แล้วว่ามีการเสนอเป็นกลุ่ม 2-3 กลุ่ม และทุกคนก็เป็นไปตามกฎกติกาข้อบังคับที่เราปฏิบัติร่วมกัน เพราะฉะนั้น ตนขออนุญาตดำเนินการตามมติต่อไป เพราะคิดว่าทุกคนที่เข้ามาก็มีความตั้งใจหมด จึงขอให้เป็นไปตามข้อบังคับคือต้องลงมติ โดยจำนวนรายชื่อมีทั้งหมด 33 คน
ทำให้กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ และกลุ่มอิสระไม่พอใจ ที่จะเลือกเป็นกลุ่มก้อนจึงมีการเสนอให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อทั้้งหมดแสดงวิสัยทัศน์ว่าเหมาะสมเป็นกมธ.หรือไม่ เพราะต้องการให้เกิดการรอมชอม เพราะหากยังดึงดันที่เสนอชื่อกมธ. 15 คน โดยไม่เปิดโอกาสให้สว.คนอื่นเลยจะตั้งแบบนี้อาจทำให้ภาพลักษณ์ของสว.ชุดนี้เป็นอย่างที่สว.สงสัย วิพากษ์วิจารณ์
รวมถึงนพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.กลุ่มสีขาว อภิปรายว่า ตนสนใจในกระบวนการยุติธรรมเพราะเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมส่งผลถึงประชาชน ตนจึงลงเป็นกมธ. และอัยการถือเป็นความหวังวของประชาชนแทนที่เราจะรอบคอบในการตั้งกมธ. ที่มาจากทุกส่วนแต่ต้องมาโหวตกันด้วยเสียงข้างมากลากไป แล้วจะได้ใครก็รู้ ไม่ต้องโหวตก็รู้ และกมธ. ชุดนี้ก็จะเป็นเงาของกมธ.ชุดหน้าคือตรวจสอบประวัติศาลปกครองสูงสุด ซึ่งตนคิดว่าจะเป็นโดมิโน ถ้าวันนี้มีการโหวตกมธ.ตรวจสอบประวัติอัยการแบบนี้ การตรวจสอบประวัติศาลปกครองสูงสุดก็คงไม่ต่างกันแล้วหลังจากออกห้องประชุมไป อะไรจะเกิดขึ้น
“ดังนั้นผมจะไม่ทรยศต่อประชาชนเพราะการเลือกกมธ.ส่งผลต่ออัยการสูงสุดแน่นอน และเมื่อไม่มีใครสนใจเสียงข้างน้อยอีกต่อไป จึงมีอย่างเดียวที่ตนจะทำได้ในขณะนี้คือไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับการโหวตครั้งนี้ และคิดว่าการทำเช่นนี้ประธานในที่ประชุม ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าทำไปแล้วผลประโยชน์ตกกับใคร ผมจึงขอออกจากห้องประชุมและการประชุมหลังจากนี้ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย” จากนั้นนพ.เปรมศักดิ์ ได้เดินออกจากห้องประชุมทันที โดยมีสว.บางส่วนเดินตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามพล.อ.เกรียงไกร ได้วินิจฉัยให้เดินหน้าลงมติเลือกกมธ.ให้เหลือ 15 คน โดยให้สว.กาบัตร ว่าจะเลือกรายชื่อใดที่เสนอมา