บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมมือกับกรมประมงแก้ปัญหาปลาหมอคางดำในจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มอบปลากะพงขาว 5,000 ตัวแก่ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ในกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” บริเวณศาลพันท้ายนรสิงห์ และสนับสนุนอุปกรณ์จับปลาแก่ประมงจังหวัดนครปฐมร่วมแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ พร้อมรุกดำเนิน 5 โครงการอย่างจริงจัง โดยมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้แสดงความสนใจร่วมมือกันหาแนวทางควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำที่มีประสิทธิภาพ

นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นำตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วม กิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ช่วยกันจับปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำบริเวณศาลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมรับมอบปลากะพงขาวขนาด 5 นิ้วจำนวน 5,000 ตัวจากตัวแทนซีพีเอฟ และปล่อยลงแหล่งน้ำเพื่อช่วยควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ ส่งผลให้ซีพีเอฟได้ร่วมสนับสนุนปลานักล่าเพื่อร่วมควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำตามแนวทางกรมประมงไปแล้วรวม 54,000 ตัว รณรงค์และทำกิจกรรมกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดไปคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศบ้านเรา

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้ร่วมกิจกรรมสำรวจปลาหมอคางดำของประมงจังหวัดนครปฐม จัดขึ้นเพื่อประเมินสถานการณ์และจำนวนปลาในแหล่งน้ำบริเวณศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองไร่ขิง อำเภอสามพราน โดยมีตัวแทนซีพีเอฟมอบอุปกรณ์จับปลาหมอคางดำ แก่นายสมบุญ ธัญญาผล ผู้ตรวจราชการกรมประมง เพื่อเป็นอุปกรณ์ใช้การจัดกิจกรรมลงแขกลงคลองของจังหวัดนครปฐมที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้

ซีพีเอฟได้คิกออฟ 5 โครงการเชิงรุกขานรับนโยบายของรัฐบาลแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ได้แก่ โครงการร่วมกับพันธมิตรรับซื้อปลาหมอคางดำในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ซึ่งได้ร่วมมือกับโรงงานศิริแสงอารำพีรับซื้อทำปลาป่นไปแล้ว 600,000 กิโลกรัม โครงการสนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำตามแนวทางของกรมประมง จำนวน 200,000 ตัว ซึ่งปัจจุบันได้สนับสนุนปลานักล่าแก่ประมงจังหวัดประมงสมุทรสงคราม 44,000 ตัว ประมงจังหวัดจันทบุรี 5,000 ตัว และประมงจังหวัดสมุทรสาคร 5,000 ตัว โครงการสนับสนุนการจับปลา รวมถึงอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนในพื้นที่ โครงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ และ โครงการร่วมวิจัยและพัฒนาผู้เชียวชาญ และอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสจล. ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาในระยะยาว ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้แสดงความสนใจเข้าร่วมศึกษาหาแนวทางจัดการปลาหมอคางดำอีกด้วย