วันที่ 5 ส.ค.2567 ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์  อยู่เกษ  สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล  แถลงตอบโต้นายคารม  พลพรกลาง   รองโฆษกรัฐบาล  ที่ออกมาระบุว่า หัวหน้าพรรคและพรรคก้าวไกลหลายประการ ในการต่อสู้ทางกฎหมายในคดียุบพรรคก้าวไกล ว่า การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเกิดจากความมีอคติส่วนตัวและความไม่เป็นมืออาชีพ   ซึ่งการต่อสู้เรื่องอำนาจศาลที่กำลังพิจารณาคดี  ในคดีใดคดีหนึ่ง   ว่าศาลนั้นไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นการต่อสู้คดีโดยปกติ ที่ฝ่ายที่ถูกร้องสามารถยกขึ้นมาต่อสู้คดีได้    ทุกคดีในศาล  การยกเรื่องดังกล่าว ไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด  ซึ่งมีคดีในศาลจำนวนมากที่ศาลยกฟ้องด้วยเหตุที่มีการฟ้องผิดศาล  หรือผู้ร้องไปฟ้องต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาคดี

"การที่พรรคก้าวไกลยกข้อต่อสู้ประเด็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลจึงเป็นเรื่องปกติ ตรงกันข้ามการที่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย แต่พูดชี้นำศาลรัฐธรรมนูญว่าการยกข้อต่อสู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเป็นการละเมิดอำนาจศาลเช่นนี้ หากไม่ใช่การมีความรู้อันจำกัดของผู้ประกอบการวิชาชีพกฎหมายแล้ว น่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยมีอคติส่วนตัวกับพรรคก้าวไกล"นายจุลพงศ์ กล่าว

เมื่อถามว่าการต่อสู้ของพรรคในเรื่องที่ กกต. ดำเนินกระบวนการไม่ถูกต้องตาม พ.ร.ป. พรรคการเมืองและระเบียบ กกต. ในเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานนั้น นายจุลพงศ์ กล่าวว่า กกต. ไม่ได้เรียกไห้พรรคก้าวไกลได้มีโอกาสให้ข้อเท็จจริงหักล้างข้อกล่าวหา  ตนขอชี้แจงว่าเป็นการต่อสู้ของพรรคก้าวไกลในวิธีพิจารณาของ กกต. ก่อนที่ กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้ขั้นตอนการรวบรวมและรับฟังพยานก่อนฟ้องคดีนั้น   เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการดำเนินคดี   


นายจุลพงศ์  ยังชี้แจงกรณีการใส่ร้ายว่าพรรคก้าวไกลดึงต่างประเทศมากดดันศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นเรื่องที่บุคคลที่มีความคิดเช่นนี้ขาดวุฒิภาวะ ในความเข้าใจสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน   ที่ประเทศไทยไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวในสังคมโลกนี้ได้ คุณค่าของสังคมโลกในขณะนี้อยู่ที่การมีสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมืองของประชาชน   ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีผลต่อการลงทุนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสิ้น  

“การที่รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความคิดเห็นที่สื่อได้ว่าสมควรยุบพรรคก้าวไกลนั้น ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีสมควรทบทวนการทำงานของรองโฆษกคนนี้     ว่าได้แสดงความคิดเห็นแบบมืออาชีพของการเป็นโฆษกรัฐบาลหรือไม่ เพราะไม่ได้บอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัวโดยไม่ใช้ความเห็นของรัฐบาล  มิฉะนั้นประชาชนจะเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองเหมือนเช่นที่เคยเกิดกับพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน” นาจุลพงศ์ กล่าว