วันที่ 5 ส.ค. 67 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC)  ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และคณะผู้บริหาร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

โดยนายกฯ รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ จากอธิบดีกรมชลประทาน โดยภาพรวมสถานการณ์ฝนในปีนี้ ณ ขณะนี้อยู่ที่ 56% ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ 4% ขณะที่นายกฯกำชับให้ทางกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมให้ดูแลลงรายละเอียดเป็นรายอำเภอ 

นอกจากนี้อธิบดีกรมชลประทาน ยังรายงานถึงสถานการณ์ที่เขื่อนขุนด่านปราการชลจังหวัดนครนายก มีการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1-5 ส.ค.ในระดับคงที่ แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาท้ายเขื่อนจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ขณะนี้ได้ปิดการระบายน้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชลแล้ว

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปนายกฯได้กำชับนายอนุทินว่า อยากฝากเรื่องของแม่น้ำโก-ลก จังหวัดนราธิวาส หลังจากลงพื้นที่ร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พบว่าจำเป็นจะต้องมีการขุดลอกคลองเพื่อไม่ให้คลองตื้นเขินและระบายน้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาอยู่ เนื่องจากฤดูฝนของภาคใต้จะมาช้ากว่าภาคอื่นๆประมาณเดือน พ.ย. 

ขณะที่นายอนุทิน รายงานว่า เรื่องนี้มีแผนและอยู่ในแนวของผังเมือง ซึ่งกรมโยธาธิการจะประสานไปทางมาเลเซีย ทั้งนี้นายกฯยังได้เน้นย้ำและกำชับอีกว่า ให้ดำเนินการโดยเร็วแม้ฝนจะมาช้าก็ตาม จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนฝนจะมาเพราะทางมาเลเซียเดือดร้อนเนื่องจากมีพื้นที่ต่ำกว่าประเทศไทย แต่ฝ่ายเราก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน อย่างปีที่แล้วก็เกิดปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาส หากดำเนินการตรงนี้ได้ก็จะบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้

จากนั้นนายกฯ เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ พร้อมมอบนโยบายว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วปัญหาเรื่องน้ำเราเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งและน้ำไม่ได้คุณภาพ ซึ่งตนมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน เพราะส่งผลต่อความเสียหายอย่างหาค่ามิได้ต่อประชาชนคนไทยทุกคน ตนได้มอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องน้ำบูรณาการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะทำแผนงานและโครงการที่สามารถเร่งรัดดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี

ตลอดจนการพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาว เพื่อให้น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ขอเน้นการเสริมประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ก่อนพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำ และระบบการกระจายน้ำเพิ่มเติมเพื่อการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วงฤดูฝนนี้ตนมอบหมายให้กรมชลประทานและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA นำเสนอพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 

ทั้งนี้นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุมถึงแผน 3 ปี ในด้านทรัพยากรน้ำ  โดยมอบหมายให้ สทนช. เร่งรัดการยกร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้ ให้ สทนช. รับผิดชอบในการติดตามและประเมินผล  การดำเนินงานตามแผน และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ  ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สทนช. บูรณาการการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ นายกฯ มอบหมายให้ สทนช. ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด ส่วนบริเวณที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ให้ สทนช.บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ในการกำหนดขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ชัดเจน และขอเน้นย้ำให้บริหารสถานการณ์และแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว มีการสื่อสารกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เข้าถึง และทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ  

และได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องน้ำเร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ”  ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ

โดยที่ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำได้พิจารณาและเห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนภัยพิบัติด้านน้ำอื่นๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ โดยประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ประกอบด้วยการเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค  การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ  การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง  และการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ 

ตนและรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชน โดยผมได้สั่งการให้ สทนช. เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้  และตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยให้ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากร่วมกับกรมชลประทาน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด

เมื่อถามว่า มั่นใจกับการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 254 ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “มั่นใจครับ”

#น้ำท่วม #นายกฯ #ข่าววันนี้