เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 4 สิงหาคม 2567 ที่บริเวณริมคลองโคกขาม หลังศาลพันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง นายวิโรจน์ มาเจริญ กับ นายวัฒนา แตงมณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยตรีประพันธ์ ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานบริษัทศิริแสงอารำพี จำกัด นายนิรุทธ์ แก้วนิล นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ กลุ่มต้นคนหว่านแห ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตำรวจน้ำ ผู้แทนผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร พันธมิตรกำจัดปลาหมอคางดำ ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติปลาหมอคางดำ เข้าร่วมเปิดปฏิบัติการ“ลงแขก ลงคลอง ครั้งที่ 2 กำจัดปลาหมอคางดำ” 

 สำหรับกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง กำจัดปลาหมอคางดำ” นี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่พบปลาหมอคางดำ หรือ สิ่งมีชีวิตอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำทุกประเภททั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย  ขณะนี้ยังคงพบการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่โดยเฉพาะใน 16 จังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่การแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ดังนั้นเพื่อเป็นการร่วมกันตัดวงจรชีวิตและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำให้เบาบางลงนั้น จึงได้มีการจัดกิจกรรมลงแขกลงคลอง ก่อนปล่อยพันธุ์ปลานักล่า คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรในแหล่งน้ำ ซึ่งนอกจากจะเป็นการร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ในจังหวัดสมุทรสาครแล้ว ยังเพื่อเป็นการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย  

 ขณะที่ในแหล่งน้ำ (คลองโคกขาม บริเวณหลังศาลพันท้ายนรสิงห์) นั้น ทางประมงจังหวัดสมุทรสาครได้รับแจ้งจากพี่น้องประชาชนว่าในพื้นที่พบปลาหมอคางดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้มีการประสานกับ อบต.พันท้ายนรสิงห์ และพันธมิตรกำจัดปลาหมอคางดำ ร่วมกันจับปลาหมอคางดำขึ้นจากคลองโดยวิธีล้อมอวน และทอดแห อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากปลาหมอคางดำ อาทิเช่น ปลายอ ไส้อั่ว น้ำปลา ก้างปลาป่น เป็นต้น การทำปลาหมอคางดำแดดเดียว ปลาหมอคางดำทอดเกลือ และการแล่ปลาหมอคางดำเพื่อนำไปประกอบอาหารนานาชนิด เป็นต้น และในโอกาสนี้ ทางกลุ่มพันธมิตรกำจัดปลาหมอคางดำ ยังได้มอบพันธุ์ปลากะพง (ปลานักล่า) ขนาด 4 นิ้ว จำนวน 5,000 ตัว ให้กับกรมประมงและประมงจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำ กำจัดลูกปลาหมอคางดำที่รอดจากการจับด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆ โดยมี ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เป็นผู้รับมอบ

ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทั้งนี้จึงได้ให้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ และหลังจากนั้นก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการฯ ในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ และได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ให้ขับเคลื่อนนโยบายของกรมประมงในการเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาคร มีการกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 6 แสนกิโลกรัม และล่าสุดกรมประมงได้ประกาศจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาคร ราคากิโลกรัมละ 15 บาท จำนวน 10 จุด ซึ่งในภาพรวมของประเทศจะรับซื้อทั้งหมด 2,000,000 กิโลกรัม เพื่อส่งมอบให้กับการยางแห่งประเทศไทย นำไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพส่งให้กับเกษตรกรสวนยางพารา หลังจากนี้ทางรัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณ 450 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการตามมาตรการ 7 ประการ ในการกำจัดปลาหมอคางดำปี 2568 และให้เสร็จสิ้นภายในปี 2570 จึงนับเป็นทิศทางที่ดีในการที่จะช่วยกันกำจัดปลาหมอคางให้สิ้นซากหรือให้เบาบางลงได้มากที่สุด เพื่อคืนทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ให้กลับมาอีกครั้ง

ดร.ณมาณิตาฯ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า จากการที่กรมประมงประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำที่กิโลกรัมละ 15 บาท และเพิ่มให้กับแพปลาอีก 5 บาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการส่งให้กับศูนย์พัฒนาที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร และ โรงงานที่จังหวัดกาญจนบุรีนั้น ก็ส่งผลทำให้ปลาหมอคางดำที่ล่าได้จากในปากแม่น้ำ หรือลำคลองสาธารณะนั้นมีปริมาณลดลง แต่ที่จับได้มากขึ้นคือในบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ของเกษตรกร ขณะที่ในส่วนของแพปลาก็มั่นใจได้ว่าส่วนต่างที่ได้รับเพิ่มอีก 5 บาท เป็นค่าบริหารจัดการนั้น จะส่งผลคุ้มทุนอย่างแน่นอน.