นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยกรณีการคัดค้านการย้ายศาลารอรถเมล์หน้าหมู่บ้านพิบูลย์บางซื่อว่า จากการลงพื้นที่ติดตามเรื่องนี้ พบว่า มีประชาชนยื่นหนังสือโดยเข้าชื่อกันมากกว่า 270 ชื่อ ต่อสำนักการจราจรและขนส่งกทม. สำนักงานเขตบางซื่อ และกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ส่วนตัวพบข้อสงสัยใน 2 ประเด็น จึงได้ส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง สภากทม. ซึ่งมีนางรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม เป็นประธาน ดังนี้

 

1. การติดตั้งศาลาป้ายรถเมล์ผิดจากจุดที่อนุกรรมการพิจารณาที่หยุดรถโดยสารในเขตกรุงเทพมหานครกำหนดไว้ในปี พ.ศ. 2521 ทำให้ประชาชนปรับวิถีชีวิตมาใช้ป้ายจุดนี้กว่า 46 ปีนั้น และในวันที่ 19 พ.ค.ได้มีการย้ายให้ถูกจุดอย่างกะทันหันเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะรับผิดชอบอย่างไร

 

ได้คำตอบกลับมาว่า สมัยนั้นเกิดความผิดพลาดหลายครั้งเนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีกำหนดจุด ต้องใช้เอกสารกระดาษ โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ยอมรับความผิดพลาดในการย้ายโดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์สอบถามผู้ใช้งานจริงก่อน และหากมีความผิดพลาดในการปักป้ายที่ผ่านมานาน สจส.ควรต้องส่งหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบกให้พิจารณามติใหม่เพื่อย้ายจุดเดิม (ในปี พ.ศ.2521) มายังจุดปัจจุบันให้ตรงตามการใช้งานของประชาชน

 

2. เรื่องต้องสงสัยในการทุจริตที่ทำให้การย้ายป้ายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ ไม่มีการแจ้งประชาชนหรือติดป้ายประกาศใด ๆ โดยบริษัทเอกชนที่ประสงค์ให้ย้ายป้ายได้เสนอออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งไม่มีเอกสารชี้แจงค่าใช้จ่ายนี้ อีกทั้งหนังสือบันทึกข้อความให้ย้ายป้ายระบุวันที่ 20 พ.ค. แต่ป้ายรถเมล์กลับเริ่มรื้อถอนย้ายในวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งได้รับคำตอบว่า สจส.จะรีบตรวจสอบและนำเอกสารมาชี้แจงให้เร็วที่สุด หากพบการทุจริตจะให้มีการสอบหาความจริงต่อไป

 

นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า จากการหารือ อนุกรรมการพิจารณาที่หยุดรถโดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางบก มีมติให้สำนักงานเขตบางซื่อเจรจากับประชาชนในพื้นที่ เพื่อตกลงว่าจะย้ายศาลารอรถเมล์กลับมาจุดเดิมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันเป็นหลัก แต่จากการตรวจสอบจุดตั้งศาลารอรถเมล์เดิม กรมการขนส่งทางบกแจ้งว่า มีการตั้งไม่ตรงจุดที่กำหนดไว้นานแล้ว ซึ่งป้ายรถเมล์ยึดตามเสาป้ายหยุดรถเป็นหลัก การขยับศาลารอรถเมล์ไปยังจุดใหม่เป็นจุดที่ถูกต้องแล้ว และมีความเหมาะสมมากกว่าจุดเดิม ทั้งนี้ กทม.ไม่มีอำนาจไปกำหนดจุดตั้งป้ายรอรถเมล์ ต้องยึดเกณฑ์การกำหนดจุดป้ายรอรถเมล์จากกรมการขนส่งทางบกเป็นหลัก

 

ส่วนกรณีเอกชนดำเนินการย้ายป้ายรถเมล์เดิมไปยังจุดอื่นนั้น ถือว่าทำไม่ถูกต้องตามระเบียบกำหนด เพราะเป็นอำนาจของ สจส.ในการออกใบอนุญาต ถึงแม้เอกชนจะทำหนังสือถึง สจส.แล้วว่าต้องการจะย้ายศาลารอรถเมล์เพื่อดำเนินการใดก็ตาม ต้องรอหนังสือตอบกลับจาก สจส.ตามกระบวนการก่อน จึงจะดำเนินการได้ โดยหลักการ การย้ายศาลารอรถเมล์ สจส.ต้องเป็นผู้ดำเนินการ และต้องมีการของบประมาณเพื่อดำเนินการย้ายให้ถูกต้องตามกระบวนการ ดังนั้น สจส.จึงมีการแจ้งความในกรณีดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ได้ออกหนังสือตอบกลับเพื่ออนุญาตให้มีการย้ายศาลารอรถเมล์ เพราะมีประชาชนร้องเรียนเกิดขึ้น

 

นายเจษฎา ประภาสะวัต ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ กล่าวว่า ล่าสุดได้ส่งผลการทำประชาพิจารณ์ของคนในพื้นดังกล่าว ให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาแล้ว โดยความเห็นส่วนใหญ่ในประชาพิจารณ์ต้องการให้ตั้งศาลารอรถเมล์ไว้ที่เดิม ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอกรมการขนส่งทางบกตอบหนังสือกลับมา กทม.ไม่มีอำนาจในการกำหนดจุด หากกรมการขนส่งทางบกชี้จุดแล้ว ก็ต้องดำเนินการตามนั้น ส่วนฝ่ายใดจะเห็นด้วยหรือไม่ ต้องไปอุทธรณ์คำสั่งจากกรมการขนส่งทางบก

 

นายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ รองประธานคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง คนที่ 1 กล่าวว่า ไม่ว่าศาลารอรถเมล์จะเป็นของหน่วยงานใดเป็นผู้บริจาคหรือสร้างให้ กทม.เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ การย้ายต้องมีหนังสือจาก สจส.ระบุชัดเจน จึงจะถูกต้องตามระเบียบ สามารถย้ายได้