สส.ตราด หารือมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ในพื้นที่จังหวัดตราด ขณะตัวแทนภาคสังคมตราด วอนขอให้ช่วยเหลือเงินดีกว่าให้ถุงยังชีพ เหตุได้มากแล้ว

นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ในพื้นที่จังหวัดตราด ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตราด เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดตราด รวมทั้งผู้แทนเกษตรกร เข้าร่วม ที่ห้องประชุมพลอยแดง ศาลากลางจังหวัดตราด



ทั้งนี้ ตามที่้จังหวัดตราด เกิดภัยพิบัติ จากปัญหาอุทกภัย จำนวน 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2567 และ
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคม 2567

มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติ จำนวน 3 อำเภอ 17 ตำบล 100 หมู่บ้าน 1,850 ครัวเรือน
ประกอบด้วย อำเภอเมืองตราด 5 ตำบล 28 หมู่บ้าน อำเภอบ่อไร่ 7 ตำบล 57 หมู่บ้าน อำเภอเขาสมิง 5 ตำบล 15 หมู่บ้าน มีพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทางการเกษตรจำนวนมากได้รับผลกระทบ

“ผมได้มีการจัดประชุมหารือมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยหลังน้ำลด ซึ่งเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง รวมทั้งขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบของทางราชการ ให้ผู้แทนเกษตรกรได้รับทราบ”นายศักดินัย กล่าว 

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้นำเสนอให้ภาครัฐควรปรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือให้เป็นไปตามสภาพการณ์โดยเฉพาะการเยียวยาความเสียหายในพืชเศรษฐกิจเช่นทุเรียน 

ขณะนายสมเกียรติ สมรรถการ ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดตราด กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดตราดทั้งสองครั้งที่ผ่านมานั้น ภาคสังคมน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมเท่าไร เนื่องจากเป็นท่วมระยะสั้นและไม่ได้ทำให้ผลผลิตการเกษตรได้รับผลกระทบในระยะยาว อีกทั้งไม่ได้เกิดขึ้นทั้งจังหวัด สิ่งที่ควรจะเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ใช่แจกสิ่งของหรือถุงยังชีพเพียงอย่างเดียว เพราะวันนี้ แต่ละครัวเรือนมีมากและมีหลายหน่วยเข้ามาช่วยซึ่งทุกครัวเรือนได้รับ การที่จะทำให้เขาเหล่านั้น ได้ช่วยตัวเองมากกว่านี้ก็คือ การมอบเงินเยียวยามากกว่าให้สิ่งของ เพราะเขาเหล่านั้นจะได้นำไปใช้เพื่อตัดสินใจว่าจะนำไปแก้ปัญหาหรือฟื้นฟูครอบครัวอย่างไรดี แต่การที่ได้เพียงถุงยังชีพเพียงเท่านั้นแล้วจบ จึงไม่น่าจะเพียงพอต่อการเยียวยา

ชมรมธนาคารฯตราด หอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรมฯจึงควรที่จะทำเร้่องเสนอให้กับธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ ความช่วยเหลือด้วยเงินจากส่วนราชการซึ่งน่าจะเหมาะสมและจะทำให้สามารถทำให้แต่ละครัวเรือนได้รับการแก้ไขที่ดีขึ้น