โรงเรียนบ้านทองหลาง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์นำคณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และชาวบ้านกว่า 100 คน ร่วมกิจกรรมลงแขกดำนา เพื่อสร้างการเรียนรู้ และประสบการณ์ตรงด้านทักษะอาชีพ และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีลงแขกดำนา ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย 

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.67 นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาธิการในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายพิทักษ์ สมพร้อม รองผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 4  น.ส.ลฎาภา บุญยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทองหลาง ผู้นำท้องถิ่น คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชาวบ้านทองหลาง รวมกว่า 100 คน ร่วมโครงการสืบสานประเพณีลงแขกดำนา ส่งเสริมพัฒนาทักษะอาชีพ โดยการลงแขกดำนา กล้าปักดำลงในบริเวณแปลงนาจำนวน 8 ไร่ ของโรงเรียนบ้านทองหลาง ต.ทองหลาง อ.บ้านบ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์

เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้กับนักเรียน ได้เกิดเกิดการเรียนรู้ ในทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และความรู้ในกิจกรรมด้านการเกษตร โดยการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้นักเรียน ได้ริเริ่มตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งการทำนาก็เช่นกัน ที่ถือเป็นการเรียนรู้ จากการลงมือทำเองในทุกขั้นตอน และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ รวมทั้งเพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน วิถีการทำนาแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้คงอยู่ไว้ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เห็นคุณค่าของอาชีพการทำนา ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน

นายโสภณ  ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาธิการในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าประเพณีลงแขกดำนา นั้นถือว่ามีความสำคัญและเป็นประเพณีไทย ที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีกันภายในชุมชน เป็นความร่วมมือแบบเสริมพลังกัน รวมทั้งเป็นพื้นฐานวิธีรวมกลุ่มเพื่อสร้างความแข็งของสังคมได้ และยังช่วยกันอนุรักษ์สืบสานประเพณี ภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้คงอยู่ไว้ 

ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาธิการในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยต่อว่า การทำนาดำจะให้ผลผลิตดีและมากกว่าการทำนาแบบหว่าน แต่ด้วยปัจจัยในการผลิตและต้นทุนที่สูงจึงทำให้ไม่ค่อยมีผู้ที่จะนิยมดำนา และการที่โรงเรียนบ้านทองหลาง ได้จัดกิจกรรมลงแขกดำนา ยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ การสร้างประสบการณ์ตรงให้กับนักเรียน และยังเป็นการการปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับนักเรียน ได้เรียนรู้การทำนาตามวิถีเกษตรดั้งเดิม โดยร่วมกันสืบสานประเพณีการลงแขกดำนา