รองอธิบดี “วิทยา” เน้นย้ำเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำภาคใต้ตอนบน เตรียมแผนรับมือ 4 จังหวัด ช่วยเหลือประชาชน

วันที่ 2 ส.ค.67 นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 14 (จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง) โดยมี นายนรเศรษฐ สองทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และแผนรับมืออุทกภัยในช่วงวิกฤต ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 14 อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เนื่องจากในระยะนี้ ประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่นในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยได้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง สำนักงานชลประทานที่ 14 จึงได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง โดยนำข้อมูลจากหน่วยงานพยากรณ์มาเป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้า และได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้วางแผนรับมือในสถานการณ์วิกฤตในพื้นที่สำคัญ อย่างอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ปัจจุบัน (1 ส.ค. 67) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันทั้งสิ้น 595 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 45% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 740 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี และมีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ต่อทุกกิจกรรมการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด โดยให้พื้นที่ตอนบนทำการเก็บกักน้ำ พื้นที่ตอนกลางทำการหน่วงน้ำ และเร่งระบายน้ำออกทางพื้นที่ตอนล่าง พร้อมประสานงานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน พนังกั้นน้ำ และคันกั้นน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หากมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้เร่งเข้าไปช่วยเหลือและดำเนินการฟื้นฟูความเสียหายภายหลังสถานการณ์น้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วย ตามนโยบายของนาย ชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน