2 ปลัด ผนึกกำลังกระทรวงอุตฯ-กระทรวงทรัพย์ฯ เร่งแก้ไขผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมวางแนวทางการจัดการ ปัญหาสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมหารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อบูรณาการร่วมกันวางแนวทางการจัดการปัญหาสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ณ ห้องประชุม ชั้น 17 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยจากปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียและกากอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่ายและอำเภอเมือง จังหวัดระยอง โกดังเก็บของเสียและวัตถุอันตราย อำเภอภาชี บริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขาอุทัย) บริษัท ซันเทค เคมิคอล แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขากลางดง) อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และบริษัท เอกอุทัย จำกัด สาขาศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในวงกว้าง กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนข้อมูลและบูรณาการงานร่วมกัน โดยได้หารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เช่น การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การดำเนินการตามมาตรการป้องกันปริมาณน้ำฝนไม่ให้ชะล้างสารเคมีหรือกากอุตสาหกรรมไหลปนเปื้อนออกสู่พื้นที่ของชาวบ้านข้างเคียง กระบวนการนำของเสียและกากอุตสาหกรรมไปทำการบำบัดกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ตลอดจนการฟื้นฟูดิน น้ำใต้ดินและสภาพแวดล้อมโดยรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันพิจารณาแนวทางและแผนการจัดการแก้ไขปัญหาของเสียและกากอุตสาหกรรม ในพื้นที่ และได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาโดยการยกระดับเสนอให้พื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งของเสียและกากอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูพื้นที่และเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ได้ร่วมผนึกกำลังผ่านโครงการอุตสาหกรรมรวมใจ รวมพลัง ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเยียวยา บรรเทาปัญหาและความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ในเบื้องต้น ด้วยการสนับสนุนผ่านกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง เช่น การมอบถุงยังชีพและหน้ากากอนามัย การจัดให้มีบริการตรวจสุขภาพ การกำจัดบำบัดของเสียในส่วนใดส่วนหนึ่งตามที่ผู้ประกอบการมีศักยภาพสามารถดำเนินการได้ตามหลักวิชาการ การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรม การสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ และบุคลากรเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ แก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านให้ได้มากที่สุด
“การจัดการแก้ไขปัญหาสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่ต่างๆที่เกิดขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้มากที่สุด พร้อมกำหนดแนวทางเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูพื้นที่ และวางมาตรการป้องกันให้มีความชัดเจนอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก และขอขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมกันแก้วิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน“นายณัฐพลกล่าว
#ข่าววันนี้ #สารเคมีรั่ว #มลพิษ #กากสารเคมี #แคดเมียม #ลักลอบทิ้งของเสีย