ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

หลายคนเข้าวัดด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน แต่บางคนก็เข้าไปเพื่อหาคำตอบหลาย ๆ อย่าง

กนิษฐาก็เป็นหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ คนที่ต้องการค้นหาคำตอบบางอย่างนั้น แต่ว่ากว่าจะมาเข้าวัดก็เป็นช่วงปลายของชีวิต เพราะเธอมาเข้าวัดภายหลังที่เกษียณจากงานราชการนั้นแล้ว ในอายุกว่าหกสิบปีแล้วนี้ จึงถือว่ามีอาวุโสมากพอสมควร แต่ความจริงแล้วที่ไปรวมกันอยู่ในวัด ก็มีแต่คนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งนั้น เพียงแต่มารวมกันที่วัดด้วยเหตุผลต่าง ๆ รวมถึงตัวเธอด้วยที่มีเหตุผลไม่เหมือนใคร

ชีวิตของสาวไฮโซที่เธอเคยเป็นมานับสิบปี ทำให้เธอรู้สึกตัวเองว่า “อยู่ยาก” กับการปฏิบัติตัวให้เข้าได้กับชีวิตในวัด แต่เธอก็ใช้เวลาปรับตัวไม่นานก็พอที่จะปฏิบัติกิจต่าง ๆ ให้เหมือนคนอื่น ๆ ได้ตามสมควร แต่กระนั้นเธอก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ “ทาง” ของเธอ แต่เพื่อคำตอบที่เธอได้ตั้งธงไว้เพื่อค้นหา เธอก็ต้องอดทนพยายาม ซึ่งนิสัยอดทนพยายามนี้เป็นนิสัยของเธอมาแต่ไหนแต่ไร และเธอก็ประสบความสำเร็จในหลาย ๆ เรื่องมาด้วยลักษณะนิสัยนี้ ที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “ตื๊อ” นั่นแล

กนิษฐาเคยติดตามคุณยายไปวัดมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่นั่นเธอไปเพื่อเล่นกับเพื่อน ๆ เด็ก ๆ ที่ติดตามผู้ใหญ่ไปวัด รวมถึงที่จะได้รับประทานอาหารและขนมอร่อย ๆ ที่ชาวบ้านทำประชันกันสุดฝีมือไปถวายพระสงฆ์ ด้วยความเชื่อว่ายิ่งทำอร่อยมาก ๆ เท่าใด ก็จะยิ่งได้บุญมาก ๆ เท่านั้น และถ้าเราตายไปได้อยู่บนสวรรค์ ก็จะต้องได้รับประทานอาหารดี ๆ นี้ไปโดยตลอด โดยข้อความอันหลังนี้คุณยายก็ชอบพูดอยู่เสมอ ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ จึงควรตั้งใจทำอาหารหรือซื้ออาหารดี ๆ ถวายพระให้เป็นประจำ ซึ่งเธอก็จำได้แม่นยำและทำตามที่คุณยายพูดนั้นมาตลอดชีวิต คือทุกครั้งที่เธอไปใส่บาตรหรือทำบุญเลี้ยงพระ เธอก็จะต้องหาแต่อาหารดี ๆ และของอร่อย ๆ มาทำบุญใส่บาตรเสมอ ๆ ซึ่งคุณยายยังบอกอีกว่า คนไทยเขาถือว่าพระสงฆ์นั้นเป็น “เนื้อนาบุญ” คือผืนดินที่สามารถ “ปลูกเพาะ” บุญกุศลต่าง ๆ ให้เกิดกับตัวเราได้โดยตรง รวมถึง “ผ้าเหลือง” ที่พระสงฆ์ท่านครองหรือแต่งหุ้มร่างกาย ก็สามารถนำบุญกุศลต่าง ๆ มาสู่ผู้คนได้โดยตรง จึงมีคำที่ชอบพูดกันติดปากในเวลาทำบุญต่าง ๆ ว่า “เกาะชายผ้าเหลือง” โดยเฉพาะเวลาที่ลูกชายบวช พ่อแม่ก็ถือว่าได้บุญมากเพราะได้เกาะชายผ้าเหลืองของลูกนั่นเอง ซึ่งเมื่อเธอโตมาเธอก็อยากจะถามคุณยายว่า แล้วถ้าผู้หญิงหละ ผู้หญิงบวชไม่ได้ พ่อแม่ก็ไม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองสินะ แต่ว่าคุณยายก็เสียไปเสียก่อน ทำให้เธอยังไม่ได้รับคำตอบในคำถามนี้

กนิษฐาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตั้งแต่เด็กอยู่กับคุณยายมาโดยตลอด เพราะแม่ของเธอหย่าและแยกกันอยู่กับพ่อ ตั้งแต่ที่เธอยังคลานเตาะแตะ เพราะพ่อแอบไปมีภรรยาอีกคนหนึ่ง แม่จึงเหมือนจมอยู่ในกองทุกข์มาโดยตลอด และใช้งานราชการที่แม่ทำอยู่นั้นดับทุกข์ ด้วยการทุ่มเทชีวิตให้กับที่ทำงาน จนเหมือนว่าจะไม่สนใจลูกสาวของตัวเองเท่าใดนัก ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะตัวคุณยายนั้นด้วย ที่แบ่งเบาภาระเรื่องนี้มาอยู่ที่ตัวคุณยาย อีกทั้งคุณยายอีกนั่นแหละที่คอยปลอบประโลมและให้กำลังใจแม่ รวมถึงที่ให้แม่หาสามีใหม่เพื่อที่จะได้ไม่ให้แม่เหงาหรือเป็นทุกข์ แต่แม่ก็ไม่ได้แต่งงานใหม่ จนกระทั่งเธอเรียนจบมหาวิทยาลัยและได้งานทำเป็นข้าราชการ แม่จึงบอกกับเธอว่าเธอมี “คนรู้ใจ” ที่คบหากันมาหลายปี ซึ่งคุณยายก็จัดแจงให้ทั้งคู่ได้ไปอยู่ด้วยกัน แล้วคุณยายก็อยู่กับกนิษฐาต่อมาอีกหลายปี จนกระทั่งเธออายุย่างเข้าสามสิบปีจึงได้เสียชีวิต ที่ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันคุณยายก็จะกระตุ้นให้เธอหาแฟนและแต่งงานอยู่เสมอ ซึ่งเธอก็พยายามที่จะหา “ผู้ชายดี ๆ” สักคนมาแต่งงาน แต่เธอก็หาไม่ได้ โดยตอนที่คุณยายยังมีชีวิตอยู่ เธอมักจะบอกกับคุณยายมาโดยตลอดว่า “เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร”

ตอนที่เธอรับราชการใหม่ ๆ ก็มีคนมาชอบเธอเยอะเหมือนกัน เพราะรูปร่างหน้าตาของเธอก็เป็นที่ร่ำลือว่า “ยิ่งกว่าไปวัดไปวาได้” แต่ส่วนมากก็จะเป็นข้าราชการด้วยกันนั่นแหละ แต่ละคนก็ค่อนข้างจะมีอายุ และบางคนก็มีภรรยาแล้ว แต่ชอบมาเล่นหูเล่นตากับเธอซึ่งเป็น “เด็กใหม่” ซึ่งเธอก็รู้ทันและซัดกลับไปบ่อย ๆ เพราะแม่ของเธอสอนไว้ ว่าข้าราชการนี้มีพวก “เฒ่าหัวงู” เยอะ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะข้าราชการนี้พอมีตำแหน่งสูง ๆ ก็ถือตัวว่ามีอำนาจเหนือลูกน้องในที่ทำงาน ชอบที่จะแสดงความเหนือกว่า อย่างหนึ่งก็คือชอบให้ลูกน้องเอาอกเอาใจ ยิ่งเป็นลูกน้องสาว ๆ ก็คิดเลยเถิดไปจนถึงขั้นว่า ควรจะยอมเปลืองเนื้อเปลืองตัว ให้ “ท่าน ๆ” ได้สัมผัสลูบคลำบ้าง (นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลในสมัยต่อมาได้ออกพระราชบัญญัติเพื่อคุ้มครองการล่วงละเมิดในระบบราชการ ที่กำหนดแม้แต่ว่าจะล่วงละเมิดด้วยวาจาหรือท่าทางก็ไม่ได้) ซึ่งกนิษฐาต่อต้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ถึงขั้นส่งบัตรสนเท่ห์ผู้บริหารหลายคนถึงพฤติกรรมดังกล่าว

นาน ๆ ทีจึงจะมี “ผู้ชายดี ๆ” หลงเข้ามาในกระทรวงที่เธอทำงานอยู่ เช่นครั้งหนึ่งที่เธอกำลังเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยด้านการบริหารชื่อดังแถวหัวหมาก ก็มีข้าราชการหนุ่มคนหนึ่งไปเรียนด้วยที่นั่น ซึ่งเธอได้รู้ว่าเขาอยู่ในกระทรวงเดียวกันก็ตอนเรียนใกล้จะจบเทอมแรกนั้นแล้ว การเรียนที่นั่นเป็นการเรียนนอกเวลาราชการ ข้าราชการจึงไปเรียนเป็นจำนวนมาก เพราะมีกฎหมายการบริหารราชการนั่นเองกำหนดว่า การที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารในระดับสูง การได้วุฒิปริญญาโทจะถือเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งบริหารทั้งหลายนั้น แม้กระทั่งตำรวจหรือทหารก็หันมาใช้เกณฑ์เดียวกันนี้ เมื่อจะพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งให้ข้าราชการของตน

เธอ “ปิ๊ง” ข้าราชการหนุ่มคนนี้ด้วยความบังเอิญ เพราะเธอไม่เคยคิดจะชอบคนในที่ทำงานมาโดยตลอดตามที่แม่เธอพร่ำสอน อีกทั้งพ่อของเธอก็เป็นข้าราชการ และที่เลิกราหย่าร้างกับแม่ก็ด้วยเรื่องสาว ๆ ในที่ทำงานนี่แหละ ทำให้เธอเกลียดผู้ชายที่เป็นข้าราชการมากกว่าธรรมดา และมีความคิดมาตั้งแต่เป็นสาว ๆ แล้วว่า ถ้าหาผู้ชายดี ๆ ไม่ได้ก็จะไม่แต่งงาน เพราะกลัวเกิดปัญหาเดียวกันกับแม่ รวมทั้งที่ได้รู้มาว่าการชีวิตครอบครัวนั้นเป็น “การเสี่ยงภัย” อย่างที่สุด เพราะถ้าได้คู่ชีวิตไม่ดีแล้ว ก็ไม่ได้พังพินาศเฉพาะแต่ตัวเรา แต่รวมถึงลูกของเรา(ถ้ามีลูกด้วยกัน)และวงศ์ตระกูลอีกด้วย (ถ้าผู้ชายนั้นมาล้างมาผลาญ)

สมมุติว่าข้าราชการหนุ่มหล่อคนนี้ชื่อว่า “ป๊อก” ซึ่งพอมาแนะนำตัวกับกนิษฐาว่าทำงานอยู่ที่เดียวกัน เธอก็ทำเฉย ๆ เพราะยังมีความระแวงในเรื่องผู้ชายเสมอมา แต่เขากลับยิ่งเอาอกเอาใจและ “ตื๊อ” เธอมาก ๆ อันตรงกับนิสัยของเธอ ที่เธอเองเวลาทำอะไรหรืออยากได้อะไรก็ตือเอามาจนได้หรือจนสำเร็จ ทำให้เธอเกิดความสนใจขึ้นในวันหนึ่ง และต่อมาก็พัฒนาเป็นความสนิทสนม ไปไหนมาไหนด้วยกัน ทานข้าว เที่ยว ดูหนัง และทำอะไร ๆ ด้วยกัน แม้แต่ในที่ทำงานทั้งคู่ก็แสดงให้คนอื่นเห็นว่ามีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ จนถึงขั้นที่มีการร่ำลือว่าคู่นี้เป็น “คู่จิ้น” และน่าจะจบลงด้วยการแต่งงานกันหลังเรียนจบปริญญาโท

ป๊อกเป็นคนดีมาก ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อด้อยที่ร้ายแรงมาก ๆ ซึ่งกนิษฐามารู้ด้วยตัวเองในเวลาต่อมา ในที่สุดทั้งคู่ก็ไปไม่รอด และทำให้กนิษฐาเจ็บปวดมาก ๆ ที่เจ็บปวดมาก ๆ ไม่ใช่เพราะเสียใจหรือรักป๊อกมาก แต่เพราะเธอ “เสียรู้” และคิดว่าทุกอย่างต้องราบรื่น ซึ่งมันไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น อันทำให้เธอต้อง “เข้าวัด” อยู่หลายเดือน ซึ่งสิ่งนี้ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่เธอต้องวัดมาเรื่อย ๆ เวลาที่มีปัญหาชีวิต

ทำให้เธอรู้ว่าวัดไม่ใช่ที่แก้ปัญหาอะไรได้ทุกปัญหา ทั้งยังซ้ำเติมให้เจ็บปวดยิ่งขึ้นด้วย