นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผลการประชุมใหญ่นัดแรก เรื่องแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับรถไฟฟ้าบีทีเอสในภาพรวม ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กทม.ชำระหนี้แก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ว่า จากการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้น ได้วางกรอบการดำเนินงานและศึกษา 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.การศึกษารายละเอียดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด ซึ่งต้องเข้าใจให้ครบถ้วนทุกประเด็น 2.การดำเนินการในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องหนังสือสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ควรทำให้ถูกต้อง เนื่องจากเป็นสัญญาที่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากสภากทม. 3.เรื่องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบให้ชี้มูลความผิด ในคดีที่กรุงเทพมหานคร ว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษาให้ชัดเจน ป้องกันประเด็นปัญหาภายหลัง
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันไม่กังวลเรื่องศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ผ่านมาแล้ว กทม.พร้อมปฏิบัติตาม แต่มีความกังวล 2 เรื่องหลักคือ เรื่องการจ่ายเงินในอนาคต เนื่องจากสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่เคยผ่านการพิจารณาจากสภากทม. จะทำอย่างไรให้ถูกต้อง และ การแบกรับส่วนต่างต่อปีจากค่าเดินรถในอนาคต ซึ่งไม่ทราบว่าการทำสัญญาลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะ กทม.ต้องแบกรับภาระมาก ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องยากที่จะขึ้นค่าโดยสาร เช่น เก็บเพิ่มเป็น 60 บาท เพื่อมาชดเชยส่วนต่างที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ประชาชนคงไม่ใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่าง ๆ ต่อจากนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เช่น การเจรจากับบีทีเอสซี การนำเรื่องเข้าสภากทม.เพื่อพิจารณามูลหนี้ในส่วนต่าง ๆ การคำนึงถึงดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ในส่วนการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คาดว่าจะดำเนินการภายใน 140 วัน ซึ่งจะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 5 ส.ค.นี้
ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ความกังวลเรื่องส่วนต่างค่าเดินรถในอนาคตที่ต้องแบกรับแต่ละปีนั้น เนื่องจาก ปัจจุบัน กทม.มีค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ปีละประมาณ 2 พันล้านบาท เก็บค่าโดยสารได้ปีละประมาณ 1 พันล้านบาท ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ปีละประมาณ 6 พันล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยค่าโครงสร้างพื้นฐานปีละประมาณ 1 พันล้านบาท กทม.จึงยังไม่รับโอนส่วนต่อขยายที่ 2 จาก รฟม. เพราะรับภาระไม่ไหว เก็บค่าโดยสารได้ปีละประมาณ 1 พันล้านบาท ขณะที่ค่าจ้างเดินรถเพิ่มขึ้นทุกปี การขึ้นค่าโดยสารต้องหารือกับรัฐบาลและฝ่ายต่าง ๆ เพื่อชี้เหตุผลความจำเป็นที่เกิดขึ้น เพราะมีผลกระทบต่อประชาชน ส่วนประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนคือ เนื่องจาก ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดคดีที่กรุงเทพมหานคร ว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตั้งแต่เดือน ก.ย.66 ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีผลอย่างหนึ่งอย่างใดในอนาคตหรือไม่ อยู่ระหว่างหารือเพื่อให้เกิดความกระจ่างในการดำเนินการขั้นต่อไป
สำหรับการประชุมใหญ่ครั้งนี้มีนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัวแทนจากสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการคลัง สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ที่ศาลาว่าการ กทม.