เมื่อวันที่ 1 ส.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดฝนตกหนักในพื้นที่หลายอำเภอ ตลอดทั้งคืนจนถึงเช้าวันนี้ ทั้งนี้ นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สั่งการให้ ทุกหน่วยงาน เร่งสำรวจพื้นที่ ประสบอุทกภัย และเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย รวมทั้งการจัดเตรียมอุปกรณ์ในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้เบื้องต้นพบว่ามีปริมาณน้ำในลำน้ำหลายสาย เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก บริเวณลำน้ำแม่สะงา ที่เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่น้ำได้ในลำน้ำแม่สะงา ได้ไหลบ่าท่วมพื้นที่นาข้าวบริเวณสะพานซูตองเป้ เป็นบริเวณกว้าง

ขณะที่ นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานการ คณะทำงานติดตามสถานการณ์ War Room วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหหลากและดินโคลนถล่ม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า ขณะนี้ มีร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

โดย ศูนย์ War Room วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหหลากและดินโคลนถล่ม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการติดตาม สถานการณ์วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหหลากและดินโคลนถล่ม จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมรับหากเกิดสถานการณ์วิกฤตในพื้นที่ ในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกอำเภอทั้ง 7 อำเภอมีการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนที่ตกหนักในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะใน 72 ชั่วโมง เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนสะสม ในหลายพื้นที่ โดยจะต้องมีการเพิ่มมาตรการติดตามในอำเภอ ประกอบด้วย ตำบลห้วยผา ตำบลหมอกจำแป่ ตำบลห้วยโป่งกาน อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม และ บ้านปางคาม อำเภอปางมะผ้า ที่จะต้องมีการเฝ้าระวัง

ด้านสถานีอุตุนิยมวิทยาแม่ฮ่องสอน ขอแจ้งปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง ของ อ.เมือง มีปริมาณน้ำฝน วัดได้ 47.9 มิลลิเมตร ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2567  และจากฝนตกต่อเนื่องมาหลายวัน และผลการตรวจอากาศด้วยเรดาร์ พบกลุ่มฝนยังปกคลุม ต่อเนื่องของพื้นที่ อ.เมือง อ.ปางมะผ้า  อ.ขุนยวม อ.ปาย อ.สบเมย แม่สะเรียงอาจจะเกิดน้ำป่า และดินสไลน์ได้ และน้ำท่วมขังบริเวณราบลุ่มได้