ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : เสียงปรบมือแสดงความดีใจในความสำเร็จที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ของประเทศไทย ยูเนสโกประทับตรามรดกโลกทางวัฒนธรรม ไปเป็นที่เรียบร้อย

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) เป็นมรดกโลกภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมา

ภูพระบาท ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 – 16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และเกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า) ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอดรักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน

ต้องบอกว่ากว่าที่ภูพระบาทได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม ปี 2567 ต้องใช้เวลารอคอยนาน 2 ทศวรรษ ตั้งแต่อยู่ในบัญชีชั่วคราว(Tentative Lists) ปี 2547 (Phuphrabat Historical Park , 2004) ต่อมามีการจัดทำเอกสาร Nominations File ขั้นตอนสุดท้ายของการจะเสนอเป็นมรดกโลก ทว่าหลักเกณฑ์คุณสมบัติความโดดเด่นสากลนั้นยังไม่ผ่านการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 40 ทำให้คณะทำงานของไทยต้องมาจัดทำความโดดเด่นสากลของแหล่งให้ชัดเจนขึ้นเพื่อนำเสนออีกครั้ง ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) ซึ่งนำมาสู่ความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปีนี้

อุทยานฯภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อปี 2535 ด้านกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนชาวไทยร่วมเฉลิมฉลองภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย เปิดให้เข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเช้าชม ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคมนี้