ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น : อยากชวนผู้ชื่นชอบงานทัศนศิลป์ไปชมนิทรรศการ "โครงการอนุรักษ์สืบสานต่อยอดปณิธานในหลวง ร.10 ชุดบูชาครูเหม เวชกร เพาะช่าง ศิลปากร และวัดโพธิ์ ก้าวเข้าสู่ 77 ปี ปรีชา เถาทอง"

ที่มาของนิทรรศการฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2552 เปิดเผยว่า จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา เป็นการน้อมนำเอาแนวคิดจากตรรกะในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมาในทุกบริบท ทุกรัชกาล ทุกแผ่นดิน ทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ ซึ่งผมเรียกว่า บวร หมายถึง บ้าน วัด โรงเรียน บ้านในที่นี้หมายถึงวิถีความเป็นอยู่ของคนในชุมชน จากบ้านไปสู่สังคม วัดวาอาราม หรือวัฒนธรรม และโรงเรียน คือที่เรียนรู้ ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญในการพัฒนามนุษย์ ผมจึงตั้งเป้าในการสร้างผลงานศิลปะจำนวนทั้งสิ้น 77 ชิ้นให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลา 2 วัน

โดยมี Action Plan ของการทำงานใน 6 พื้นที่ เริ่มตั้งแต่บริเวณเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของครูเหม เวชกร จุดที่ผมค้นพบ ทฤษฏี สี แสง เงา เรื่อยไปตามระเบียงรอบนอกของวัดพระโพธิ์ โดยแบ่งรูปภาพออกเป็น 2 ขนาด ซึ่งเป็นบทสรุปของแต่ละห้วงเวลา จำนวน 2 รูป เป็นไฮไลต์ของนิทรรศการฯ ส่วนคอนเทนต์ คือการเล่าเรื่องเหมือนภาพวาดประกอบนิทาน สื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างครูกับศิษย์ ย้อนเวลากลับไปในห้วงเวลาที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้และความทรงจำที่แสนพิเศษที่ได้รับจากครูอาจารย์ทุกท่าน เช่น ครูเหม เวชกร ครูเฉลิม นาคีรักษ์ ครูไพโรจน์ สโมสร ครูสำเริง พันธ์สนิทอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง ครูอภัย นาคคง เป็นต้น ซึ่งหัวใจของการสร้างงานศิลปะในครั้งนี้ คือการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ผ่านสุนทรียศิลป์ โดยเทคนิคการ Paint สด ผสมงานคอนลาจบ้างเล็กน้อย โดยจะเขียนบันทึกย่อไว้ที่หลังรูปด้วย (อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ #ร่วมสมัยนำมาเล่า เฟสบุ๊กเพจสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และภาพ, สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารกิจกรรมได้ที่เพจ : มูลนิธิศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง)

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานของเครือข่ายศิลปะร่วมสมัยประจำปีงบประมาณ 2567 โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดแสดงนิทรรศการผลงานชุดนี้ ถึง 25 สิงหาคม 2567 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ ทั้งนี้รายได้จากการจำหน่ายผลงานหลังหักค่าใช้จ่าย จะมอบให้แก่มูลนิธิวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และมูลนิธิเหม เวชกร เพื่อการพัฒนาการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมต่อไป