นพ.สธ.กาญจน์ จัดทีม ส.ส.เคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ดูแล ปชช.ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกกัยให้คำแนะนำป้องกันโรคภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.พ.ปริพนท์ จุลเจิม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า " ในช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เกิดฝนตกหนักส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำลันตลิ่ง และดินสไลด์  

     เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน สิ่งสาธารณประโยชน์รวมถึงพื้นที่และทรัพย์สินทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี อ.ไทรโยค อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ศรีสวัสดิ์ และ อ.ด่านมะขามเตี้ย เมื่อวันที่ 25-30 กรกฎาคม 2567 หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาจเสี่ยงต่อโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมได้ สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ได้ส่งทีมปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (CDCU) ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (จาก รพ.ทองผาภูมิ, สสอ.ทองผาภูมิ, รพ.ไทรโยค, สสอ.ไทรโยค รพ.สังขละบุรี, สสอ.สังขละบุรี สสอ.เมืองกาญจนบุรี เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ให้การสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย มอบถุงยังชีพ และยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ออกเยี่ยมบ้าน และให้ความรู้ด้านสุขศึกษา ให้คำแนะนำป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม สถานการณ์ปัจจุบันน้ำลดลง เข้าสู่สภาวะปกติ


     สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน ซึ่งอาจได้รับบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจากโรคติดต่อและภัยสุขภาพในช่วงเกิดอุทกภัย จึงแบ่งการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 

     คือ 1.ระยะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลบ่า อาจเกิดปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ ถูกไฟดูด ไฟช็อต สัตว์มีพิษกัด บาดแผลติดเชื้อ 2.ระยะน้ำท่วมขัง อาจเกิดปัญหาโรคตาแดง น้ำกัดเท้า โรคอุจจาระร่วง โรคทางเดินหายใจ (ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม) 3.ระยะน้ำเริ่มลดและน้ำลดแล้ว อาจเกิดปัญหาโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู และปัญหาโรคติดต่อที่นำโดยแมลง เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น ควรติดตามข่าวสารจากทางราชการ และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ดังนี้

เตรียมของรับมือน้ำท่วม เช่น ไฟฉาย เทียนไข ยาสามัญประจำบ้าน อาหารกระป๋อง-อาหารสำเร็จรูป น้ำดื่ม ผงน้ำตาลเกลือแร่ ติดไว้เผื่อมีอาการท้องร่วง ถุงพลาสติก เอาไว้ใส่ขยะและเอาไว้ถ่ายหนัก-เบา ในกรณีน้ำท่วมขัง หากถ่ายลงในน้ำจะทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ ปูนขาว ใช้ใส่ในถุงพลาสติกที่ถ่ายหนัก-เบา เพื่อฆ่าเชื้อโรค ถุงขยะสีดำใบใหญ่ สารเคมีกำจัดแมลงนำโรค เป็นต้น วางแผนในการอพยพคนและสัตว์เลี้ยงหากเกิดน้ำท่วม  โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในบ้านเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด และเพื่อความปลอดภัย 
การปฏิบัติตัวในระหว่างน้ำท่วม

     1.รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง ควรอุ่นอาหารทุกครั้งก่อนกินอาหาร งดกินอาหารดิบ ต้องปรุงให้สุกก่อน เพราะในกรณีน้ำท่วมมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรคสูงมาก ล้างมือให้บ่อยๆเท่าที่จะทำได้ ถ้าหากเป็นอาหารกระป๋อง หรืออาหารสำเร็จรูป ต้องตรวจสอบวันหมดอายุ และกระป๋องที่บรรจุอาหาร กระป๋องต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ ไม่บวม และไม่เป็นสนิม 
     2.อย่าทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำท่วมขัง ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง ห้ามถ่ายลงน้ำโดยตรงเพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อโรค กรณีที่ไม่มีห้องน้ำต้องถ่ายลงในถุงพลาสติก และถ้าเป็นอุจจาระต้องใส่ปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อ หลังจากนั้นผูกถุงให้สนิทแล้วทิ้งในถุงดำอีกที 
     3.หากน้ำท่วมขังกระเด็นเข้าตาหรือมีฝุ่นละอองเข้าไปในตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้าและดวงตาให้สะอาด   หลีกเลี่ยงการแช่น้ำนานๆ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งทันที
     4.ระมัดระวังสัตว์มีพิษ เช่น งู, ตะขาบ, แมงป่อง ควรจัดที่พักให้โล่งแจ้ง เพื่อให้ง่ายในการระมัดระวัง
การดูแลสุขภาพหลังน้ำลด

ควรเฝ้าระวังป้องกันโรคและภัยสุขภาพระยะน้ำลด เช่น ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม โรคฉี่หนู โรคตาแดง ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคเลปโตสไปโรซีสหรือโรคฉี่หนู และปัญหาโรคติดต่อที่นำโดยแมลง เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ น้ำกัดเท้า อาการคันและโรคผิวหนัง เมื่อน้ำลดพื้นยังแฉะ มีน้ำขัง มีน้ำเน่าจากขยะปฏิกูล และมีเชื้อโรคบางชนิด เมื่อต้องเดินลุยน้ำจึงต้องใส่รองเท้าบูท ควรล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งหลังลุยน้ำ เพื่อป้องกันโรคผิวหนังที่ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า ส่วนเสื้อผ้า ผ้าห่มและที่นอน ควรทำความสะอาด ตากแดดให้แห้ง และไม่ควรใส่ช้ำๆ การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลขณะใช้ชีวิตช่วงน้ำท่วม หากเทศบาลหรือหน่วยงานราชการนำรถ/ เรือกำจัดขยะมารับก็ควรรวบรวมนำไปกำจัด แต่หากพื้นที่ใดไม่มี ควรรวบรวมแล้วขุดหลุมบริเวณที่น้ำแห้งแล้วฝังกลบให้เรียบร้อย ป้องกันแมลงวัน สุนัข และหนู มาคุ้ยเขี่ย นอกจากนี้ อาจมีสภาวะเครียดจากความสูญเสีย ทั้งทรัพย์สิน สิ่งของ รายได้ อาชีพ รวมถึงการสูญเสียจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัว ควรรับคำปรึกษาเยียวยาทางจิตใจจากหน่วยบริการด้านสุขภาพจิต สายด่วนสุขภาพจิต 1323