กลายเป็นสงครามการเมืองที่ดุเดือด ละเลงเลือด บนประเทศเจ้าของฉายาว่า เป็นแดนสาวงาม อย่างเวเนซุเอลากันเลยทีเดียว
ภายหลังจากประกาศผล “เลือกตั้งประธานาธิบดี” เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ที่ปรากฏว่า “ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา” ได้รับชัยชนะเหนือ “นายเอ็ดมุนโด กอนซาเลซ ผู้นำฝ่ายค้าน” ซึ่งจะส่งผลให้ประธานาธิบดีมาดูโร ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเวเนซุเอลาอีกสมัย ครองอำนาจปกครองประเทศต่อไปอีกเป็นเวลา 6 ปี
ตามการประกาศของประธานาธิบดีมาดูโร ต่อการเลือกตั้งซึ่งได้เปิดคูหาให้ประชาชนชาวเวเนซุเอลาได้หย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ระบุว่า ตัวของเขานั้นชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถึงร้อยละ 51 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่ากึ่งหนึ่ง อันเปรียบเสมือนฉันทานุมัติของประชาชน ที่ให้เขาได้ครองอำนาจประเทศต่อไปอีกสมัย ส่วนนายกอนซาเลซ คู่แข่ง ได้คะแนนเสียงคิดเป็นร้อยละ 44 เท่านั้น
พลันสิ้นเสียงการประกาศของประธานาธิบดีมาดูโร ทางกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรของประธานาธิบดีผู้นี้ ก็ต่างพากันออกมาแสดงความยินดีกับนายมาดูโร เช่น จีน คิวบา รัสเซีย และอิหร่าน สวนทางแตกต่างกับทางฝั่งของพลพรรคฝ่ายค้านของนายกอนซาเลซ ก็ออกมาคัดค้านต่อผลการเลือกตั้งข้างต้น โดยระบุว่า นายกอนซาเลซ เป็นฝ่ายชนะ และได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 73 หรือประมาณการจากผู้ลงคะแนนให้แก่นายกอนซาเลซ ก็มีจำนวนมากกว่า 6 ล้านคน ส่วนประธานาธิบดีมาดูโร มีผู้ลงคะแนนให้เพียง 2.7 ล้านคนเท่านั้น
พร้อมกันนั้น ก็ระดมผู้คนมวลชนออกมาชุมนุมประท้วงต่อผลการเลือกตั้งฯ ที่ประธานาธิบดีมาดูโรออกมาประกาศ จากความไม่พอใจอย่างรุนแรงที่เห็นว่า เสียงของพวกเขาที่พากันไปลงคะแนนกาบัตรเลือกตั้ง ตามคูหาต่างๆ ประเทศนั้น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำประเทศ หลังจากที่นายมาดูโร มาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ตั้งแต่ปี 2013 (พ.ศ. 2556) เป็นต้นมา สืบต่ออำนาจจากประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ผู้ล่วงลับ ปรากฏว่า สถานการณ์ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านเศรษฐกิจ มีแต่จะเลวร้ายลง จนถึงขั้นที่ทำให้ประชาชน ต้องอพยพออกนอกประเทศ เพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ในต่างประเทศที่ดีกว่า จนกลายเป็นคลื่นอพยพของผู้คนอย่างมหาศาล โดยมีการประเมินกันว่า ประชาชนชาวเวเนซุเอลา แห่อพยพนอกประเทศไปแล้วราว 8 ล้านคน
ถึงขนาดทางการเวเนซุเอลา ต้องออกโครงการเรียกร้องให้ชาวเวเนซุเอลาที่อพยพออกไปแล้วนั้น กลับคืนสู่ประเทศมาตุภูมิบ้านเกิด
อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า กลุ่มผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาในต่างแดนจำนวนหนึ่ง ต้องการให้นายมาดูโร ต้องกระเด็นพ้นจากเก้าอี้ประธานาธิบดีไปเสียก่อน ดังนั้น กลุ่มผู้อพยพฯ เหล่านี้ จึงสนับสนุนผู้สมัครฯ ฝ่ายค้าน ในการสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาอย่างที่เห็น ทางกลุ่มผู้อพยพฯ ส่วนหนึ่งก็ได้ผสมโรงในการสนับสนุนการแสดงออกถึงการต่อต้านประธานาธิบดีมาดูโร ด้วยเห็นว่า ประธานาธิบดีผู้นี้โกงเลือกตั้ง ขโมยคะแนนเสียงประชาชนที่กาบัตรเลือกตั้งนั้นไป
เบื้องต้นของการชุมนุมประท้วง จำนวนหลายพันคน ก็พากันเดินขบวนก่อนไปปักหลักรวมตัวใกล้กับ “ทำเนียบประธานาธิบดี” ใน “กรุงคารากัส” เมืองหลวง ก่อนขยายวงลุกลามไปยังเมืองต่างๆ ในอีกวันสองวันถัดมา
โดยการชุมนุมประท้วงข้างต้น ก็เป็นไปอย่างดุเดือด จากการปะทะกันระหว่างม็อบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ก่อนสถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นจลาจลในหลายพื้นที่ ทั้งเผาทำลายข้าวของ
ในการปะทะกัน ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วนับสิบคน และมีผู้ถูกตำรวจจับกุมไปจำนวนหลายร้อยคน ซึ่งทางประธานาธิบดีมาดูโร กล่าวโทษว่า กลุ่มแนวคิดขวาตกขอบ หรือขวาสุดโต่ง ทั้งในและนอกเวเนซุเอลา เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง การจุดไฟม็อบ ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างที่เห็นเช่นนี้
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวรัฐบาลของประธานาธิบดีมาดูโร ก็จัดให้เป็นฝ่ายซ้ายของเวเนซุเอลา
จากความรุนแรงที่ปรากฏ ก็ส่งผลให้องค์การระหว่างประเทศ อย่าง “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” ตลอดจนนานาประเทศ ทั้งกลุ่มชาติตะวันตก ที่นำสหรัฐฯ อังกฤษ และสหภาพยุโรป หรืออียู และบรรดาชาติในอเมริกาใต้ หรือลาตินอเมริกา และอเมริกากลาง หรือคอนคาเคฟ รวมถึงในย่านทะเลแคริบเบียน ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี คอสตาริกา ปานามา เปรู สาธารณรัฐโดมินิกัน และอุรุกวัย ออกมาแสดงปฏิกริยาทั้งต่อการคัดค้านผลการเลือกตั้ง และไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของทางการเวเนซุเอลา จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการเสียเลือด เสียเนื้อ ตลอดจนสูญเสียอิสรภาพกันเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่ถูกตำรวจจับกุม
กล่าวถึงปฏิกริยาของบรรดาชาติในลาตินอเมริกาข้างต้น ก็ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามมา ระหว่างเวเนซุเอลากับชาติในอเมริกาใต้เหล่านั้น
เริ่มจากการที่ทางการเวเนซุเอลา ระงับเที่ยวบินพาณิชย์จากปานามา ในคอนคาเคฟ หรืออเมริกากลาง และจากสาธารณรัฐโดมินิกัน ประเทศในหมู่เกาะย่านทะเลแคริบเบียน
ระงับเที่ยวบินพาณิชย์ แบบราวกับปิดน่านฟ้าระหว่างกันยังไม่พอ ทั้งเวเนซุเอลา กับประเทศในลาตินอเมริกา และคอนคาเคฟ ตลอดจนย่านทะเลแคริบเบียนเหล่านั้น ยังถึงขั้นสะบั้นสัมพันธ์ทางการระหว่างประเทศกันด้วย ด้วยการเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศด้วยกันทั้งสองฝ่าย
พร้อมกันนี้ ทางการของบรรดาประเทศข้างต้น ก็ยังได้เรียกร้องกระตุ้นเตือนให้ทางการเวเนซุเอลา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเปิดเผยผลคะแนนเลือกตั้งที่แท้จริงออกมา ซึ่งข้อเรียกร้องในลักษณะอย่างนี้ ก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องยากที่เวเนซุเอลาจะยอม พร้อมกับส่งผลให้ปัญหาความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคดังกล่าวต้องดำเนินอยู่ต่อไป
สร้างความวิตกกังวลให้แก่ “องค์การรัฐอเมริกัน” ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศของทวีปอเมริกา อันครอบคลุมทั้งอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ โดยมีชาติสมาชิก 35 ประเทศ อันมีสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วยกัน ต้องเรียกประชุมฉุกเฉินในสัปดาห์นี้ เพื่อเร่งแก้ไขข้อขัดแย้งดังกล่าว ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคโดยรวมให้ลุล่วงไป